Videos

10 มหาเศรษฐีพันล้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยี 2018

นิตยสารฟอร์บส์ จัดอันดับมหาเศรษฐีพันล้านประจำปี 2561 พร้อมทั้งแยกให้เห็นเป็นรายภาคอุตสาหกรรมว่า มหาเศรษฐีพันล้านรายใด ที่มีฐานะร่ำรวยมากสุดในอุตสาหกรรมนั้นๆ

The Bangkok Insight ได้คัดเลือกอุตสาหกรรมที่น่าสนใจจำนวนหนึ่งมาให้ดูกัน โดยในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีนี้ อันดับ 1 คงหนีไม่พ้น “เจฟฟ์ เบโซส” ซีอีโอ และผู้ก่อตั้งอเมซอน ดอท คอม บุคคลที่ฟอร์บส์จัดอันดับให้เป็นมหาเศรษฐีที่มีฐานะมั่งคั่งที่สุดในโลก

ที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ใน 10 อันดับแรกของอุตสาหกรรมนี้ มีมหาเศรษฐีจากจีนเบียดเข้ามาติดอันดับด้วย 2 คน ส่วนที่เหลือเป็นชาวอเมริกันทั้งหมด

เจฟฟ์ เบโซส

ซีอีโอ และผู้ก่อตั้งอเมซอน ดอท คอม ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซของสหรัฐ เป็นมหาเศรษฐีที่มั่งคั่งที่สุดของภาคอุตสาหกรรมนี้ ด้วยสินทรัพย์มูลค่ามากกว่า 150,000 ล้านดอลลาร์

ปัจจุบันนอกจากถือหุ้น 16% ในอเมซอน บริษัทที่เขาก่อตั้งขึ้นในโรงรถเมื่อปี 2537 แล้ว เบโซส ซึ่งเคยทำงานกับกองทุนบริหารความเสี่ยงก่อนที่จะออกมาขายหนังสือออนไลน์ ยังมีความสนใจในเรื่องการเดินทางไปอวกาศ

บลู ออริจิน บริษัทด้านอวกาศของเขา กำลังพัฒนาจรวดที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งเบโซสบอกว่า สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ด้วย
เมื่อปี 2556 เขายังเข้าซื้อกิจการหนังสือพิมพ์เดอะ วอชิงตัน โพสต์ ในราคา 250 ล้านดอลลาร์

บิล เกตส์

บิล เกตส์ ดำรงตำแหน่งผู้บริหารกองทุนบิล แอนด์ เมลินดา เกตส์ ร่วมกับเมลินดา ภรรยาของเขา ซึ่งกองทุนนี้ เป็นกองทุนการกุศลภาคเอกชนที่มีขนาดใหญ่สุดของโลก มีเป้าหมายในการทำงานเพื่อช่วยชีวิตผู้คน และพัฒนาสุขภาพของคนทั่วโลก ทั้งยังทำงานร่วมกับองค์กรโรตารีสากล เพื่อขจัดโปลิโอ

ที่ผ่านมาเกตส์ได้ขาย หรือแจกหุ้นส่วนใหญ่ที่เขาถืออยู่ในไมโครซอฟท์ บริษัทซอฟต์แวร์ ที่เขาจับมือกับพอล อัลเลน ตั้งขึ้นมาในปี 2518 โดยเหลือไว้ในมือเพียงแค่ 1% กว่าๆ เท่านั้น เขายังลงทุนในหุ้น และสินทรัพย์อื่นๆ ด้วย

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก

ประธานกรรมการบริหาร ซีอีโอ และผู้ร่วมก่อตั้งเฟซบุ๊ก สื่อสังคมออนไลน์ชื่อดัง มีสินทรัพย์เพิ่มขึ้น จากราคาหุ้นของบริษัทที่ทะยานขึ้นมาอย่างมาก

ซักเคอร์เบิร์กเริ่มต้นกิจการเฟซบุ๊ก ขณะที่ยังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมื่อปี 2547 ขณะที่เขาอายุเพียง 19 ปี เขานำเฟซบุ๊กเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2555 และยังถือหุ้นในบริษัทอยู่เกือบ 17%

ในเดือนเมษายน 2561 ซักเคอร์เบิร์กต้องขึ้นให้การต่อสภาคองเกรส หลังจากมีการเปิดเผยว่า เฟซบุ๊กแชร์ข้อมูลของผู้ใช้งานให้กับเคมบริดจ์ แอนาลิติกา บริษัทที่ปรึกษาด้านการเมือง

แลร์รี เอลลิสัน

ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทซอฟต์แวร์ ออราเคิล ในปี 2520 เพื่อเจาะเข้าไปยังความต้องการฐานข้อมูลบริหารจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น

เขาก้าวลงจากตำแหน่งซีอีโอออราเคิลเมื่อปี 2557 แต่ยังอยู่ในตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท และหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี

ออราเคิลมุ่งหน้าเข้าสู่ธุรกิจฮาร์ดแวร์ ด้วยการเข้าซื้อกิจการซัน ไมโครซิสเต็มส์ มูลค่า 7,400 ล้านดอลลาร์ ในปี 2553 ก่อนจะเดินหน้าเข้าสู่ธุรกิจคลาวด์ คอมพิวติ้ง ในปี 2559 ด้วยการเข้าถือครองกิจการเน็ตสวีต บริษัทซอฟต์แวร์คลาวด์ มูลค่า 9,300 ล้านดอลลาร์

แลร์รี เพจ

ซีอีโออัลฟาเบต อิงค์ บริษัทแม่ของกูเกิล ยักษ์ใหญ่ด้านบริการค้นหาข้อมูล โดยเขากับเซอร์เกย์ บริน นักศึกษาปริญญาเอก แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ก่อตั้งกูเกิลขึ้นมาเมื่อปี 2541

เพจได้ร่วมมือกับบริน คิดค้นอัลกอรึธึมเพจแรงค์ขึ้นมา ซึ่งช่วยผลักดันให้กูเกิลกลายเป็นเสิร์ชเอนจิ้นแถวหน้าของโลก

เขาเป็นซีอีโอคนแรกของกูเกิลจนถึงปี 2544 ก่อนจะกลับเข้ามารับตำแหน่งเดิมอีกครั้งในปี 2554 หลังจากไปรับหน้าที่เป็นประธานบริหารฝ่ายผลิตภัณฑ์

เซอร์เกย์ บริน

ประธานบริหารอัลฟาเบต ยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมเทคโนโลยีโลก บริษัทแม่ของกูเกิล ซึ่งก่อนหน้านี้ เขาเคยบริหารหน่วยงานลับ กูเกิล เอ็กซ์ ที่พัฒนาแว่นตากูเกิลขึ้นมา

บรินร่วมมือกับแลร์รี เพจ ก่อตั้งกูเกิลขึ้นมาในปี 2541 โดยเขาพบกับเพจ ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในขณะที่กำลังศึกษาปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์

กูเกิลเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2547 และเปลี่ยนชื่อเป็นอัลฟาเบตในปี 2558

หม่า ฮั่วตง

ประธานกรรมการบริหาร และซีอีโอเทนเซ็นต์ โฮลดิ้งส์ ยักษ์ใหญ่ด้านอินเทอร์เน็ตสัญชาติจีน และติดอยู่ในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่สุดของแดนมังกร ในแง่ของมูลค่าทางตลาด

เทนเซ็นต์เป็นเจ้าของวีแชท แอพพลิเคชันสนทนาออนไลน์ยอดนิยม ที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 1,000 ล้านราย

หม่า ฮั่วตง หรือที่รู้จักกันในชื่อ โพนี่ หม่า เคยเป็นวิศวกรก่อนที่เขาจะร่วมก่อตั้งเทนเซ็นต์ขึ้นในปี 2541 เขาเป็นคนที่ชอบเก็บเนื้อเก็บตัว ไม่ค่อยออกงานสังคมมากนัก

แจ็ค หม่า

อดีตครูสอนภาษาอังกฤษ ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานกรรมการบริหารอาลีบาบา กรุ๊ป หนึ่งในธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่มีขนาดใหญ่สุดของโลก

อาลีบาบามีฐานการดำเนินงานอยู่ที่เมืองหังโจว ประเทศจีน ในปี 2550 ได้ทำข้อตกลงเป็นผู้สนับสนุนกีฬาโอลิมปิกครั้งแรก และยังได้ทำข้อตกลงสตรีมมิงจำนวนหนึ่งกับดิสนีย์

ปีงบประมาณ 2560 สิ้นสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อาลีบาบาทำรายได้พุ่งขึ้นถึง 58% มาอยู่ที่ 250,000 ล้านหยวน หรือเกือบ 1.3 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการทำรายได้สูงสุดนับแต่ที่บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ของสหรัฐ เมื่อปี 2557

ในการทำไอพีโอเมื่อ 4 ปีที่แล้ว อาลีบาบายังสร้างประวัติศาสตร์ เป็นบริษัทที่ระดมทุนจากการทำไอพีโอได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 25,000 ล้านดอลลาร์

นอกจากอาลีบาบาแล้ว หม่ายังเข้าไปลงทุนในด้านต่างๆ รวมถึง การเข้าถือหุ้นในฮัวยี่ บราเธอร์ส และปักกิ่ง เอนไลท์ มีเดีย 2 บริษัทในอุตสาหกรรมบันเทิงจีน

สตีฟ บอลเมอร์

อดีตซีอีโอไมโครซอฟท์ ปัจจุบันเป็นเจ้าของสโมสรบาสเก็ตบอลลอสแองเจลิส คลิปเปอร์ส ซึ่งเป็นทีมในลีกเอ็นบีเอ ของสหรัฐ

บอลเมอร์จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขาบริหารงานไมโครซอฟท์ ระหว่างปี 2543-2557 โดยเขาทุ่มเงิน 2,000 ล้านดอลลาร์ ซื้อทีมลอสแองเจลิส คลิปเปอร์ ในปีเดียวกับที่เขาพ้นจากตำแหน่งซีอีโอไมโครซอฟท์

เขาเป็นผู้นำไมโครซอฟท์ผ่านช่วงเวลาอันยากลำบากในยุคฟองสบู่ดอทคอมแตก และในช่วงเวลาที่ไมโครซอฟท์ พยายามไล่กูเกิล กับแอปเปิล ให้ทันในด้านบริการค้นหา และโทรศัพท์มือถือ ตามลำดับ

ไมเคิล เดลล์

ประธานกรรมการบริหาร และซีอีโอ เดลล์ เทคโนโลยีส์ บริษัทที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2559 หลังจากที่เดลล์ ควบรวมกิจการกับอีเอ็มซี ยักษ์ใหญ่ด้านการจัดเก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์

การผนวกกิจการเดลล์-อีเอ็มซี มูลค่า 60,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสิ้นสุดลงในปี 2559 นั้น กลายเป็นข้อตกลงเข้าซื้อกิจการครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีโลก

ทรัพย์สินเกือบทั้งหมดของเดลล์ อยู่ในเอ็มเอสดี แคปิตอล บริษัทด้านการลงทุนส่วนบุคคลของเขา ที่เป็นผู้ถือหุ้นในโรงแรม และร้านอาหารจำนวนหนึ่งด้วย

ที่มา: ฟอร์บส์ 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight