Environmental Sustainability

(คลิป) รัฐได้อะไรจากโรงไฟฟ้าชีวมวล

“ประเทศไทย” ยังเป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเชื้อเพลิงหลัก ทั้งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ในแต่ละปีประเทศไทยต้องสูญเสียงบประมาณมูลค่ามหาศาล จากการนำเข้าเชื้อเพลิงเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ ทั้งเชื้อเพลิงที่ใช้สำหรับภาคขนส่ง และเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้า ให้เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ

ในปี 2542 ถือเป็นการเริ่มต้นศักราชของการพัฒนาพลังงานทดแทน เพื่อการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยเนื่องจาก โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (Small Power Producer: SPP) หรือ โรงไฟฟ้า SPP Renewable เรียกกันย่อ ๆ ว่า SPP Renew ที่มีกระบวนการผลิตไฟฟ้าโดยใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร หรือ เชื้อเพลิงชีวมวล สามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นครั้งแรก จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 20 ปี แล้ว

ภาครัฐได้อะไรจากโรงไฟฟ้าชีวมวล

“ภาครัฐ” เล็งเห็นประโยชน์เหล่านี้จึงได้กำหนดให้มีสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจาก เชื้อเพลิงชีวมวลไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศที่เพิ่มขึ้นตามมาโดยตลอด ควบคู่กับการส่งเสริมพลังงานทดแทนประเภทอื่นด้วย

เห็นได้ว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561–2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Revision 1) ภาครัฐยังคงเป้าหมายสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายไม่น้อยกว่า 30% ภายใน พ.ศ. 2580 โดยมี เป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 28,004 เมกะวัตต์ ซึ่งในส่วนนี้ จะเป็น กำลังผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล 4,694 เมกะวัตต์

โรงไฟฟ้าชีวมวล

การปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงานของประเทศลดลง เป็นผลจากการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้นตามนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทนของรัฐบาล

พลังงานชีวมวลเป็นหนึ่งในพลังงานทดแทน ที่ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ เพราะการใช้พลังงานชีวมวล จะปล่อย Biogenic CO2 เกิดการหมุนเวียนคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศผ่านกระบวนการดูดซับของพืช โดยกระบวนการสังเคราะห์แสง เมื่อเปรียบเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิล การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีรอบเวลาในวัฏจักรคาร์บอน นานนับล้านปี

ประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์ ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดลง 20–25% ในปีพุทธศักราช 2573 ตามประกาศความร่วมมือผ่านเวทีประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ครั้งที่ 21 บรรลุความตกลงที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พุทธศักราช 2558

โรงไฟฟ้าชีวมวล

ตามแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ในปีพุทธศักราช 2573 การผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 95.47 ล้านตัน ลดลงจากแผน PDP 2018 เดิมที่ 98.74 ล้านตัน โดยปริมาณที่ลดลง มาจากการลดกำลังผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และเพิ่มกำลังผลิตจากเชื้อเพลิงชีวมวลแทน

นอกจากนี้ภาครัฐยังได้ประโยชน์ที่ก่อให้เกิดผลดีทางเศรษฐกิจ คือ ลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า กระตุ้นการลงทุนด้านพลังงาน สร้างงาน สร้างรายได้ในระดับท้องถิ่น สร้างการเรียนรู้เทคโนโลยีและการคิดค้นวิจัย และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับชุมชน

ที่สำคัญยังเกิดประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม ลดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล ลดปริมาณเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นในประเทศ

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight