The Bangkok Insight

‘ขนแรดแบบกลับหัว-นักการเมืองอ้วนสะท้อนคอร์รัปชัน’ คว้า อิกโนเบล

การเคลื่อนย้ายแรดแบบกลับหัว ส่งผลดีต่อสุขภาพของสัตว์ มากกว่าแบบตะแคง และ ระดับความอ้วนของนักการเมือง เป็นดัชนีบ่งชี้ถึงอัตราการคอร์รัปชันของประเทศนั้น คว้ารางวัล “อิกโนเบล” ประจำปี 2564 ไปครอง

ผลงานของทีมนักวิจัย จาก มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ สหรัฐ เกี่ยวกับการขนย้ายแรด ในท่ากลับหัว ได้รับรางวัลอิกโนเบล สาขาการคมนาคมขนส่ง ประจำปี 2564 ไปครอง

ทีมวิจัย บอกว่า  วิธีการขนย้ายแรด แบบที่จับมัดขา หงายท้อง แล้วให้ห้อยหัว อยู่กลางอากาศนั้น นับเป็นการขนส่งที่่ดีกว่า แบบนอนตะแคง หรือนอนคว่ำ เพราะท่ากลับหัว มีการหมุนเวียนเลือด และการหายใจที่ดี ทั้งยังไม่พบความเสียหายของกระดูก และกล้ามเนื้ออีกด้วย

120453695 ab82a161 6b8b 4125 9bf7 79624264dc7a

ส่วนท่านอนคว่ำนั้น ส่วนหน้าอกจะแนบกับกระดานที่รองรับ หรือนอนตะแคงข้าง มีการหมุนเวียนเลือด และการแลกเปลี่ยนก๊าซในปอดไม่สม่ำเสมอนัก ทั้งยังเกิดความเสียหายจากการกดทับกล้ามเนื้อและกระดูกหน้าอกด้วย

นอกจากรางวัลสาขาการคมนาคมขนส่งที่มอบแก่ทีมวิจัยข้างต้นแล้ว ยังมีผู้ได้รับรางวัลอิกโนเบล 2564 ในสาขาอื่น ๆ อีกดังต่อไปนี้

  • สาขาชีววิทยา มอบให้แก่ ซูซาน ช็อตซ์ ผู้วิจัยการส่งเสียงแบบต่าง ๆ ที่แมวใช้สื่อสารกับคน
  • สาขานิเวศวิทยา มอบให้แก่ เลลา ซาทอรี และคณะ ผู้วิเคราะห์พันธุกรรมแบคทีเรียในเศษหมากฝรั่ง ที่ติดอยู่ตามทางเท้าของประเทศต่าง ๆ
  • สาขาเคมี มอบให้แก่ ยอร์ก วิกเคอร์ และคณะ จากผลงานวิเคราะห์สารเคมีในอากาศของโรงภาพยนตร์ เพื่อดูว่ากลิ่นที่ผู้ชมผลิตออกมา สามารถบ่งบอกถึงระดับความรุนแรงและพฤติกรรมต่อต้านสังคมในภาพยนตร์ที่กำลังฉายอยู่ได้หรือไม่
  • สาขาเศรษฐศาสตร์ มอบให้แก่ พาฟโล บลาวัตสกีย์ ซึ่งค้นพบว่าระดับความอ้วนของนักการเมือง เป็นดัชนีบ่งชี้ถึงอัตราการคอร์รัปชันของประเทศนั้น
  • สาขาการแพทย์ มอบให้แก่ ออลเซย์ เซม บูลุต และคณะ จากงานวิจัยที่พบว่าการบรรลุถึงจุดสุดยอดทางเพศ ช่วยลดอาการคัดจมูกได้ดีเทียบเท่ากับใช้ยาลดน้ำมูก
  • สาขาสันติภาพ มอบให้แก่ อีธาน เบเซริส และคณะ ซึ่งค้นพบว่าวิวัฒนาการทำให้มนุษย์สร้างหนวดเคราขึ้นมา เพื่อลดแรงกระแทกจากหมัดที่ต่อยเข้าหน้า
  • สาขาฟิสิกส์ มอบให้แก่ อะเลสซานโดร คอร์เบตตา และคณะ จากผลงานวิจัยที่ให้คำตอบว่า เหตุใดคนเดินถนนจึงไม่ชนเข้ากับคนเดินถนนด้วยกันอยู่เสมอ
  • สาขาจลนศาสตร์ มอบให้แก่ ฮิซาชิ มุราคามิ และคณะ จากผลงานวิจัยที่ให้คำตอบว่า เหตุใดคนเดินถนนจึงชนเข้ากับคนเดินถนนด้วยกันในบางครั้ง
  • สาขากีฏวิทยา มอบให้แก่ จอห์น มัลเรนเนน จูเนียร์ จากผลงานวิจัยเรื่อง “วิธีใหม่ในการควบคุมประชากรแมลงสาบบนเรือดำน้ำ”

ทั้งนี้ เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ผู้ชนะรางวัลอิกโนเบลในปีนี้ จะได้รับถ้วยรางวัลที่ต้องพิมพ์ออกมาประกอบเอง โดยใช้เครื่องพิมพ์สามมิติ รวมทั้งได้ครองเงินรางวัลที่เป็นธนบัตรปลอมมูลค่า 10 ล้านล้านดอลลาร์ซิมบับเว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo