The Bangkok Insight

‘หมออดุลย์’ ชี้ทางรอด ลด 4 เสี่ยงหลังคลายล็อก รอดตายจากโรค รอดตายจากอด

“หมออดุลย์” ชี้ทางออกหลังคลายล็อกดาวน์ แนะลด 4 เสี่ยง บุคคลเสี่ยง กิจกรรมเสี่ยง สถานที่เสื่ยง เวลาที่เสี่ยง ช่วยกันเพื่อให้รอดไปด้วยกัน ทั้งรอดตายจากโรค และ รอดตายจากอด

ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “บันทึกเรื่องน่ารู้ by Dr.Adune” เปิดทางรอดหลังคลายล็อกดาวน์ ทั้งรอดตายจากโรค รอดตายจากอด ชี้ถ้าไม่ช่วยกัน ถ้าระบาดใหม่ ต้องล็อกใหม่ ทุนที่ไปลงอาจสูญเปล่ากลายเป็นติดลบ โดยระบุว่า

คลายล็อก

“#ลด 4 เสี่ยงหลังคลายล็อก

ถ้าระบาดใหม่ ต้อง ล็อกใหม่ หมายถึง ทุนที่ลงไปช่วงฟื้นฟูกิจการ ก็จะสูญเปล่า กลายเป็นติดลบ ซึ่งสุดท้ายอาจจะไม่ฟื้นเลยก็ได้

เมื่อสถานการณ์ระบาด โควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้น และ เริ่มผ่อนคลาย เราจะช่วยกันอย่างไร เพื่อให้ไม่กลับมาระบาดอีก

คลายล็อก เพื่อให้ชีวิตการทำงาน และธุรกิจเดินต่อ เพื่อให้ไม่อดตาย แต่ต้องไม่ให้ป่วยตายด้วยครับ เพราะถ้าป่วย หรือระบาดใหม่ ต้องล็อกใหม่ หมายถึง ทุนที่ลงไปช่วงฟื้นฟูกิจการ ก็จะสูญเปล่า

การป้องกันการกลับมาระบาดใหม่ เป็นผลกรรม ที่เกิดจากการกระทำของตัวเรา และทุกคน ไม่สามารถเกิดได้ด้วยใคร คนใดคนหนึ่ง ลำพัง ศบค. ลำพัง หมอ พยาบาล ลำพังเจ้าของธุรกิจ ลำพังประชาชนทั่วไป ก็ไม่สามารถทำได้

มาตรการป้องกันตัวเองไม่ให้แพร่เชื้อ และไม่ให้ติดเชื้อ ยังจำเป็นเสมอ เพราะเราไม่รู้ว่าใครมีเชื้อบ้าง รวมถึงตัวเราเอง บางครั้งก็ไม่รู้ว่าตัวเรามีเชื้อ และเราเป็นคนแพร่เชื้อ

อดุลย์

ดังนั้น จึงต้องคงมาตรการนี้ไว้ให้เข้มข้น แต่การติดต่อทางสังคม และการงานจำเป็นต้องเกิดขึ้น เราก็ควรจะให้เกิดแบบเสี่ยงน้อยที่สุด ด้วยการลดเสี่ยง 4 ประเภท คือ

  • บุคคลเสี่ยง
  • กิจกรรมเสี่ยง
  • สถานที่เสื่ยง
  • เวลาที่เสี่ยง

ลด 4 เสี่ยงหลังคลายล็อก

1. หลีกเลี่ยงการสัมผัส ใกล้ชิด บุคคลเสี่ยง คือ คนที่รู้ว่าป่วย หรือสัมผัสคนป่วย ยังไม่พ้นการกักตัว คนที่มีอาการ ไอ จามน้ำมูกไหล  คนที่ทำงานพบปะผู้คนมากมาย คนที่เราไม่รู้จัก ไม่รู้ว่าไปที่ไหนมาบ้าง หรือคนที่เพิ่งไปร่วมกิจกรรม งานที่มีคนร่วมกันมากมาย

กลุ่มคนที่ต้องระวังตัวเอง ไม่ให้ไปสัมผัสคนอื่นโดยไม่จำเป็น คือ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มพนักงานต้อนรับ พนักงานที่ต้องทำงานในที่สาธารณะ เช่น ขับรถ บุคลลที่ต้องทำงานพร้อมกันกับคนกลุ่มใหญ่ เช่น ดารา ผู้สื่อข่าว ฯลฯ

2. หลีกเลี่ยงกิจกรรมเสี่ยง ซึ่งสรุปประเด็นสำคัญ คือ กิจกรรมที่ต้องเปิดปาก เปิดจมูก การกิน การพูดคุย รวมถึงการดื่มเหล้า เพราะจะทำให้ขาดสติ ในการควบคุมตนเอง และ มาตรการป้องกันจะหละหลวมทันที (ถ้าจะดื่มก็ดื่มที่บ้าน กับคนในบ้านเดียวกัน) การกินอาหารก็เหมือนกัน ไม่ควรกินอาหารรวมกัน ร่วมสำรับ ร่วมโต๊ะโดยไม่มีระยะห่าง หรือไม่มีฉากกั้น

cell virusโควิดใน ม ๒๑๐๘๒๘

3. หลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยง คือ พื้นที่ ที่คนเยอะ ๆ ตลาด โรงพยาบาล ร้านที่แออัด ห้องประชุมที่ไม่มีอากาศถ่ายเทและ ต้องอยู่รวมกัน หรือ แม้แต่ การไปเข้าคิวที่ไม่สามารถรักษาระยะห่าง

4.เวลาเสี่ยง คือ เวลาที่คนออกมารวมตัวกันมากมาย เช่น งานเทศกาล งานตามประเพณี งานรวมญาติ ช่วงนี้เว้นไว้ก่อน เมื่อหลีกเลี่ยงได้หลีกเลี่ยง หลีกเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นต้องไป ก็รักษามาตรการเข้มข้น

ถ้าหลีกเลี่ยง และรักษามาตรการเข้มข้นแล้ว เกิดสงสัยว่าติด หรือพบว่าสัมผัสคนติด ก็รีบตรวจ ATK ถ้าผลบวก รีบรักษา รีบกินยา ถ้าผลลบ และรู้ว่าเสี่ยง ก็เฝ้าระวังตัว ด้วยการป้องกันไม่ให้ตัวเราแพร่เชื้อ ตรวจ ATK ซ้ำเมื่อถึงเวลาหรือมีอาการ

ช่วยกันแบบนี้ เราจะรอดไปด้วยกันครับ ทั้งรอดตายจากโรค และ รอดตายจากอด”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo