The Bangkok Insight

‘หมอเหรียญทอง’ เปิดไทม์ไลน์ ร่วมสมรภูมิโควิด พร้อมประกาศภารกิจใหม่

“หมอเหรียญทอง” ไล่เรียงไทม์ไลน์ร่วมสมรภูมิโควิด พร้อมประกาศภารกิจใหม่ หลังผู้ติดเชื้อเริ่มนิ่ง ลุยสร้างอาคารศูนย์ผู้ป่วยอาการหนัก-โรคซับซ้อน รพ.มงกุฎวัฒนะ 

พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ และผู้ก่อตั้งองค์กรเก็บขยะแผ่นดิน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เหรียญทอง แน่นหนา ไล่เรียงไทม์ไลน์ การเข้าร่วมสมรภูมิรบโควิด โดยเฉพาะการตั้ง รพ.สนาม ล่าสุดประกาศลดรพ.สนาม หลังสถานการณ์โควิดดีขึ้น ผู้ติดเชื้อแนวโน้มลดลง เร่งสร้างอาคารศูนย์ผู้ป่วยอาการหนัก-โรคซับซ้อน โดยระบุว่า

หมอเหรียญทอง

“ผมเพิ่งเข้าสู่สมรภูมิโควิด-19 เมื่อโควิด-19 ลุกลามสู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร เมื่อปลายมีนาคม 2564

ระหว่างปลายปี 2563 ถึงต้นปี 2564 ที่มีการระบาดที่ จ.สมุทรสาคร และพื้นที่ด้านตะวันตกของกรุงเทพมหานครนั้น ยังไกลจากความรับผิดชอบของผม แต่ผมประเมินสถานการณ์และเตรียมพร้อมอย่างเงียบ ๆ

จนเมื่อปลาย มีนาคม 2564 เกิดสถานการณ์ระบาดระลอกใหม่ในใจกลางกรุงเทพมหานครที่ คลัสเตอร์ทองหล่อ ฯลฯ และทำให้เกิดปัญหาผู้ป่วยโควิดจำนวนมากเกินจำนวนเตียง รพ.ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

นับจากเวลานั้น ไทม์ไลน์ของผมที่นำบุคลากร และ รพ.มงกุฎวัฒนะ เข้าต่อสู้กับโควิด-19 ก็เกิดขึ้น เสมือนการประกาศสงครามกับโควิด ดังสัจจะที่ผมประกาศ ขอร่วมรบเคียงบ่ากับ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สู้ทุกศึก

แม้ รพ.มงกุฎวัฒนะจะเป็นแค่ รพ.เอกชนเล็ก ๆ ก็ขออาสาเสมือนเป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ในการปฏิบัติงานเป็นลูกมือให้แก่ ศบค. (ศปก.ศบค.) มี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เป็นเสนาธิการใหญ่ ความเต็มใจเปี่ยมด้วยมิตรไมตรี โดยไม่ต้องร้องขอใดๆ ผมขอเสือกเอง ดังสรุปไทม์ไลน์ต่อไปนี้

22 5

  • 6-9 เมษายน 2564 ขยายจำนวนเตียงหอผู้ป่วยเฉพาะโควิด-19 ใน รพ.มงกุฎวัฒนะ จาก 20 เตียงเป็น 150 เตียงในเวลา 3 วัน
  • 10-18 เมษายน 2564 สถานการณ์ผู้ป่วยจำนวนมากล้น รพ. จึงร้องขอ ศบค.เพื่อจัดกำลังเข้าปฏิบัติงานร่วมกับ ทบ. ในเครือข่าย รพ.สนาม ทบ. 3 แห่ง รวมจำนวนเตียงสนามทั้งสิ้น 720 เตียง ณ กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1 , กรมพลาธิการทหารบก และ มณฑลทหารบกที่ 11
  • 19 เมษายน 2564 จัดกำลังชุดปฎิบัติงานที่ 1 เข้าปฏิบัติงาน รพ.สนาม ทบ.(กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1) รพ.สนามระดับ 1 ขนาด 320 เตียง
  • 3 พฤษภาคม 2564 จัดกำลังชุดปฎิบัติงานที่ 2 เข้าปฏิบัติงาน รพ.สนาม ทบ.(กรมพลาธิการทหารบก) รพ.สนามระดับ 1 ขนาด 200 เตียง
  • 5 พฤษภาคม 2564 จัดกำลังชุดปฎิบัติงานที่ 3 เข้าปฏิบัติงาน รพ.สนาม ทบ.(มณฑลทหารบกที่ 11) รพ.สนามระดับ 1 ขนาด 200 เตียง
  • 17 พฤษภาคม 2564 จัดตั้ง รพ.สนาม พลังแผ่นดิน รพ.สนามระดับ 3 ขนาด 215 เตียง เพื่อรับผู้ป่วยโควิดอาการหนักจัดชั้นสีแดงวิกฤต 48 เตียง สีแดงแต่ไม่วิกฤต 150 เตียง หน่วยฟอกไตสนาม[Hemodialysis] 10 เตียง หน่วยศัลยกรรม[Surgery] 1 ห้อง และหน่วยผู้ป่วยวิกฤตต้องสงสัยรอผลการยืนยันทางห้องปฏิบัติการ 6 เตียง
  • 3-5 มิถุนายน 2564 ถอนกำลังชุดปฎิบัติงานที่ 2 และ 3 จาก รพ.สนาม ทบ.(กรมพลาธิการทหารบก) และ รพ.สนาม ทบ.(มณฑลทหารบกที่ 11) เพื่อเพิ่มเติมกำลัง ณ รพ.สนาม พลังแผ่นดิน รพ.สนามระดับ 3 และ รพ.ประจำถิ่นมงกุฎวัฒนะ เพื่อระดมฉีดวัคซีน
  • ปลายมิถุนายน 2564 เกิดสถานการณ์ระบาดระลอกใหม่โดยสายพันธุ์เดลต้า ทำให้เกิดผู้ป่วยจำนวนมากยิ่งกว่าการระบาดเดือน มี.ค.-เม.ย.64 ทำให้ต้องตัดสินใจจัดตั้ง รพ.สนาม ระดับ 2 และ 1 แต่มีจำนวนเตียงที่สามารถรับผู้ป่วยจำนวนมากได้และสามารถบูรณาการระบบส่งต่อผู้ป่วยได้อย่างเบ็ดเสร็จสูงสุด 3,320 เตียง
  • 17 กรกฎาคม 2564 จัดตั้ง รพ.สนาม พิทักษ์ราชัน (พลังแผ่นดินแห่งที่ 2) โดยการสนับสนุนของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เป็น รพ.สนามระดับ 2 ขนาด 619 เตียง เพื่อรับผู้ป่วยโควิดจัดชั้นสีเหลืองและเขียว
  • 12 สิงหาคม 2565 จัดตั้ง รพ.สนาม ใต้ร่มพระบารมี (พลังแผ่นดินแห่งที่ 3) รพ.สนามระดับ 1 ขนาด 1,752 เตียง ณ คลังสินค้าที่ 4 ท่าอากาศยานดอนเมือง โดยการสนับสนุนจาก บมจ.ท่าอากาศยานไทย และ กรมธนารักษ์ เพื่อรับผู้ป่วยโควิดจัดชั้นสีเขียว
  • ปลาย สิงหาคม 2564 สถานการณ์ผู้ป่วยจำนวนมากเริ่มนิ่ง ไม่มีปัญหาผู้ป่วยล้นจำนวนเตียง รพ. ทั้งความสำเร็จของรัฐบาลที่มาจากการกักกันและรักษาที่บ้าน [Home Isolation] และที่ชุมชน [Community Isolation] การระดมฉีดวัคซีน สัญญาณการเริ่มต้นภูมิคุ้มกันหมู่

สัญญานที่ดีขึ้น ทำให้เตรียมปรับแผนการปฏิบัติเพื่อถอนกำลัง หรือย้ายกำลังให้สอดคล้องสถานการณ์และมีประสิทธิภาพสูงสุด ในขณะที่สามารถทุเลาเพลากำลังให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ แต่ยังคงเตรียมพร้อมเข้าสู่ปฏิบัติการ หากเกิดการระบาดระลอกใหม่

สิ่งที่ผมเตรียมการนับจากนี้ คือ เดินหน้าลงทุนก่อสร้างอาคารศูนย์ผู้ป่วยอาการหนักและโรคซับซ้อน รพ.มงกุฎวัฒนะให้ได้ในปลายปี 65 เพื่อให้สามารถรับผู้ป่วยจำนวนมากและลดการจัดตั้ง รพ.สนามลง”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo