Environmental Sustainability

หลักเกณฑ์ “โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” (อัพเดทเงื่อนไขใหม่)

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก หรือคุ้นหูกันในชื่อย่อ “โรงไฟฟ้าชุมชน” เป็นนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน บรรจุอยู่ภายใต้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Revision 1) และ แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561-2580 (AEDP 2018) ที่มีกรอบเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้า จำนวน 1,933 เมกะวัตต์ ภายใน พ.ศ. 2567

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศเผยแพร่ระเบียบ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจาก ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Very Small Power Plant: VSPP) “โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) พ.ศ. 2564” ถือว่าภาครัฐได้ดำเนินการตามกระบวนการที่จะนำไปสู่การเปิดรับซื้อไฟฟ้าครบถ้วนตามข้อกำหนดของกฎหมาย

โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จึงได้ออกประกาศเชิญชวนรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) ตามมติ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการประชุมครั้งที่ 2/2562 (ครั้งที่ 144) เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 และในการประชุมครั้งที่ 2/2563 (ครั้งที่ 151) เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (1) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในการประชุมครั้งที่ 10/2564 (ครั้งที่ 714) เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกระเบียบไว้

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ชุมชนมีส่วนร่วมและให้ผลประโยชน์คืนสู่ชุมชน

ภายใต้ประกาศฉบับนี้ “โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” หมายถึง โครงการจัดตั้งโรงไฟฟ้าที่ชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการ และให้ผลประโยชน์คืนกลับสู่ชุมชน โดยชุมชนเป็นหุ้นส่วนในการประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าร่วมกับภาคเอกชน ผ่านทางวิสาหกิจชุมชน โดยจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตได้ให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย

สำหรับหลักเกณฑ์สำคัญ “โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง)” กำหนดกรอบรับซื้อไฟฟ้ารวมไม่เกิน 150 เมกะวัตต์ กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Scheduled Commercial Operation Date: SCOD) ภายใน 36 เดือน นับถัดจากวันลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement: PPA)

แบ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล ปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ต่อโครงการ เป้าหมายการรับซื้อ 75 เมกะวัตต์ และเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน ผสมน้ำเสีย/ของเสีย น้อยกว่าหรือเท่ากับ 25%) ปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ต่อโครงการ เป้าหมายการรับซื้อ 75 เมกะวัตต์

โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

อัตรารับซื้อไฟฟ้า แบ่งได้ดังนี้

1. ไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงชีวมวล กำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ คิดอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed-in Tariff (FiT) ที่ 4.8482 บาทต่อหน่วย และกำลังการผลิตติดตั้งมากกว่า 3 เมกะวัตต์ คิดอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed-in Tariff (FiT) ที่ 4.2636 บาทต่อหน่วย และมี FiT Premium สำหรับพื้นที่พิเศษอีก 0.50 บาทต่อหน่วย

2. ไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) คิดอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed-in Tariff (FiT) ที่ 4.7269 บาทต่อหน่วย โดยทั้งหมดมีระยะเวลาสนับสนุน 20 ปี และมี FiT Premium สำหรับพื้นที่พิเศษ อีก 0.50 บาทต่อหน่วย

การเสนอขอขายไฟฟ้าและหลักเกณฑ์การคัดเลือก โครงการนี้ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ต้องตรวจสอบจุดเชื่อมโยงระบบไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย

กำหนดต้องทำข้อตกลง (MOU) ที่แสดงว่าผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จะร่วมทุนกับวิสาหกิจชุมชน หรือ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยวิสาหกิจชุมชน และต้องมีข้อกำหนดการร่วมทุน ระหว่างผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ในสัดส่วน 90% และวิสาหกิจชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนในสัดส่วน 10%

โดยต้องเป็นโรงไฟฟ้าที่ไม่มีสัญญาผูกพันกับภาครัฐ ณ วันที่ยื่นคำเสนอขอขายไฟฟ้า ไม่เป็นส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ กำหนดร่วมทุนกับวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนได้ 1 ราย และให้ยื่นคำเสนอขอขายไฟฟ้าได้ไม่เกิน 1 โครงการ

โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

กำหนดต้องมีหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน และมีบัญชีรายชื่อสมาชิกไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน ตามทะเบียนบ้าน และเป็นผู้ปลูกพืชพลังงานให้แก่โรงไฟฟ้า

ส่วน รูปแบบการแบ่งปันผลประโยชน์ กำหนดต้องมี หุ้นบุริมสิทธิ 10% ให้กับวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และผลประโยชน์อื่น ๆ สำหรับชุมชนรอบโรงไฟฟ้าที่ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้า และชุมชนทำความตกลงกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาชุมชน และสวัสดิการสังคม เช่น ด้านการสาธารณสุข ด้านสาธารณูปโภค ด้านการศึกษา เป็นต้น

นอกจากนี้ต้องมี แผนการจัดหาเชื้อเพลิง โดยมีสัญญาการรับซื้อเชื้อเพลิงในราคาประกันกับวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนในรูปแบบ ระบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) ซึ่งในสัญญาจะต้องมีการระบุ ข้อมูลปริมาณการรับซื้อพืชพลังงาน ระยะเวลาการรับซื้อพืชพลังงาน คุณสมบัติของพืชพลังงาน และราคารับซื้อพืชพลังงานไว้ในสัญญาด้วย

โดยพืชพลังงานที่จะนำมาใช้ ต้องได้มาจากการปลูกโดยวิสาหกิจชุมชน หรือ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน หรือ เกษตรกรบริเวณใกล้เคียงอย่างน้อย 80% และผู้ประกอบการสามารถจัดหาเองได้ไม่เกิน 20%

ตลอดจนต้องมีเอกสารหลักฐานที่แสดง พื้นที่ปลูกพืชพลังงานของวิสาหกิจชุมชน หรือ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน และ แสดงรายละเอียดพิกัด (GPS) ตำบล อำเภอ และจังหวัด จำนวน และขนาดพื้นที่ปลูก (ไร่)

ทั้งนี้ต้องมีหนังสือรับรองนิติบุคคล ที่แสดงทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท ต่อ 1 เมกะวัตต์ ตามขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง โดยมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วขั้นต่ำตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงพาณิชย์

รวมถึงต้องมีหนังสือสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมาย ว่าด้วยธุรกิจสถาบัน การเงิน โดยต้องระบุจำนวนเงินที่ให้สนับสนุนไม่น้อยกว่า 50% ของประมาณการมูลค่าโครงการ

การพิจารณาคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านราคาให้ใช้ วิธีการแข่งขันด้านราคา (Competitive Bidding) กำหนดวางหลักประกันสัญญาซื้อขายไฟฟ้า จำนวน 500 บาทต่อกิโลวัตต์ ของปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาตามวิธีการที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายกำหนด

ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ต้องลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าประเภทสัญญาแบบที่ไม่กำหนดปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่จ่ายเข้าระบบ (Non-Firm) กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ภายใน 120 วัน นับจากวันประกาศผลการคัดเลือกโดยมีอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 20 ปี

นับจากวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) และกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Scheduled Commercial Operation Date: SCOD) ภายใน 36 เดือน นับถัดจากวันลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

กำหนดกรอบและระยะเวลาการรับซื้อไฟฟ้า ดังนี้

การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย คือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ออกประกาศให้ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) มายื่นคำขอตรวจสอบจุดเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า วันที่ 29–31 มีนาคม 2564 จากนั้น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เปิดรับยื่นคำเสนอขายไฟฟ้า ระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2564

การประกาศผลการพิจารณาคุณสมบัติ และคำเสนอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค วันที่ 9 กรกฎาคม 2564 โดยผู้ที่ไม่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติ และคำเสนอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ภายใน 15 วัน หรือ ภายในวันที่ 23 กรกฎาคม 2564

จากนั้น คณะอนุกรรมการ จะพิจารณาอุทธรณ์ ภายใน 30 วัน หรือ ภายในวันที่ 21 สิงหาคม 2564 และ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาผลอุทธรณ์ ภายในวันที่ 25 สิงหาคม 2564

คณะอนุกรรมการพิจารณาคำเสนอขายไฟฟ้าด้านราคา และเสนอ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้พิจารณาภายในวันที่ 1 กันยายน 2564 จากนั้น สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ ภายในวันที่ 2 กันยายน2564

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) จะแจ้งให้ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกทราบ และยอมรับเงื่อนไขการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ภายใน 7 วัน นับจากวันประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ หรือ ภายในวันที่ 9 กันยายน 2564

จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ภายใน 120 วัน นับจากประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ หรือ ภายใน 31 ธันวาคม 2564 และกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567

หลักเกณฑ์ “โรงไฟฟ้าชุมชน” จะแตกต่างจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าในอดีต ตรงที่กำหนดให้ “ชุมชน” เข้าร่วมถือหุ้นในโรงไฟฟ้า และเน้นการแบ่งปันผลประโยชน์ ก็เพื่อให้โครงการนี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากเพื่อให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชพลังงานมีรายได้ที่แน่นอน จากการขายเชื้อเพลิงในรูปแบบระบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) และร่วมรับผลประโยชน์ตอบแทนจากโรงไฟฟ้า รวมถึงให้โรงไฟฟ้ามีส่วนสนับสนุนการพัฒนาชุมชน และสวัสดิการสังคมของชุมชนรอบโรงไฟฟ้า

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight