Environmental Sustainability

(คลิป) มาตรการกำกับดูแลโรงไฟฟ้าชีวมวล

โรงไฟฟ้าชีวมวล เป็นกิจการไฟฟ้า ที่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ผู้ประกอบกิจการจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ในการขอใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า

https://youtu.be/9Wut9WyNMEY

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. มีอำนาจหน้าที่ในการออกใบอนุญาตการประกอบกิจการโรงไฟฟ้า ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกใบอนุญาต เอาไว้ 15 ข้อ

1. สถานที่ตั้งและสภาพแวดล้อม
2. มาตรฐานวิชาการวิศวกรรม และความปลอดภัย
3. มาตรฐานและคุณภาพการให้บริการ
4. อัตราค่าบริการ
5. ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
6. ประสิทธิภาพในการประกอบกิจการพลังงาน
7. ประเภทและชนิดเชื้อเพลิง
8. กระบวนการและเทคโนโลยี
9. การป้องกันและการขาดแคลนพลังงาน
10. การแข่งขันและป้องกันการใช้อำนาจผูกขาด
11. โครงสร้างการถือหุ้น
12. การรับฟังความเห็น
13. มาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อม
14. มาตรการรายงานด้านสิ่งแวดล้อม
15. การรายงานข้อมูล

ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าต้องดำเนินตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแต่ละข้อ โดย กกพ. มีอำนาจในการตรวจสอบ และสามารถสั่งพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาต หากผู้ประกอบการไม่ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า ตามมาตรา 128 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550

โดย กกพ. มีกระบวนการติดตาม ที่เรียกว่า ประมวลหลักการปฏิบัติ หรือ Code of Practice สำหรับโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ แต่หากเป็นโรงไฟฟ้าที่มีขนาดมากกว่า 10 เมกะวัตต์ จะใช้รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA

S08 08 3 e1627719372399

มาตรการกำกับดูแลโรงไฟฟ้าชีวมวล เพิกถอนใบอนุญาตหากไม่ปฏิบัติ

หากมีการตรวจสอบ พบว่า โรงไฟฟ้ามีค่าของเสีย หรือ มลพิษต่าง ๆ ที่เกิดจากกระบวนการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้า สูงกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ตามเงื่อนไข ทาง กกพ. มีอำนาจใช้คำสั่งทางการปกครอง ตามประกาศของ กกพ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2555 ซึ่งแบ่งเป็น 2 กรณี คือ
1. กรณีที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะ
คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะพิจารณาสั่งปรับปรุงแก้ไข ตามระยะเวลาที่กำหนด เช่น ภายใน 7 วัน หรือ 15 วัน ซึ่งการสั่งปรับปรุงในครั้งแรกนั้น โรงไฟฟ้ายังสามารถเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า ควบคู่กับการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ แต่หากปรับปรุงไม่เสร็จสิ้นตามระยะเวลาที่กำหนด เพิกเฉย หรือไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง
ทาง กกพ. จะพิจารณาสั่งพักใช้ใบอนุญาต เพื่อหยุดซ่อมโรงไฟฟ้า และหากดำเนินการปรับปรุงโรงไฟฟ้าเสร็จสิ้นแล้ว ทางผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าจะต้องมาแจ้งต่อ กกพ. เพื่อเข้าไปตรวจสอบ ก่อนเริ่มเดินเครื่องโรงไฟฟ้า
2. กรณีก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะ
คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะพิจารณาสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต ในกรณีที่เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง โดยใช้มาตรการบังคับทางการปกครอง ตามมาตรา 128
ดังนั้นการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ไม่ใช่แค่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ในกระบวนการเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าเท่านั้น แต่ตลอดระยะเวลาเดินเครื่องการผลิตกระแสไฟฟ้า ที่ส่วนใหญ่มีอายุการใช้งานมากกว่า 10 ปีขึ้นไป ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าจะต้องใส่ใจ และดูแลกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตลอดเวลา เพื่อไม่ให้โรงไฟฟ้าสร้างปัญหาให้กับชุมชน ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าในระยะยาว

คนในชุมชนยังสามารถร้องเรียนถึงผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อม อุบัติเหตุ และการสร้างความรำคาญ ได้ที่ สำนักงาน กกพ. ประจำเขต 13 เขตทั่วประเทศ

เห็นได้ว่าการกำกับดูแลโรงไฟฟ้าชีวมวล เป็นไปอย่างเข้มงวด เพื่อกำกับกิจการไฟฟ้าให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ กกพ. ที่ต้องการให้พลังงานของประเทศ มีประสิทธิภาพ เพียงพอ ส่งเสริมการแข่งขัน มั่นคง เป็นธรรม และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight