COLUMNISTS

คนไทยต้องใช้เวลาเกือบ 100 ปี คืนหนี้เงินกู้ฟื้นฟูโควิด 1.5 ล้านล้าน

Avatar photo
1031

เงินกู้ 1.5 ล้านล้าน ที่รัฐบาลกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยาวนานกว่า 1 ปี เชื่อหรือไม่ว่าอาจใช้เวลายาวนานมากกว่าจะใช้หนี้หมด และอาจกินเวลาถึงครึ่งศตวรรษ

เงินกู้โควิด

รัฐบาลกู้เงินเพื่อนำมาใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศ ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะทุกรัฐบาลในโลกล้วนแต่มี “หนี้สาธารณะ” เป็นเงินกู้ในการพัฒนาประเทศ แต่การกู้เงินก้อนใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก นานทีจะได้เห็น

รัฐบาลเคยกู้เงินครั้งใหญ่ในวิกฤติการเงินของประเทศ หรือ วิกฤติต้มยำกุ้ง ในปี 2540 โดยกู้เงินมากถึง 1.14 ล้านล้านบาท และกระทรวงการคลังต้องรับผิดชอบจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรจากงบประมาณประจำปีประมาณ ปีละ 60,000 ล้านบาทนับตั้งแต่ปี 2541

การกู้เงินครั้งนั้น เพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสถาบันการเงิน ซึ่งตามกฎหมายสมัยนั้นรัฐบาลจะเป็นผู้รับภาระ เนื่องจากกฎหมายระบุว่ารัฐบาลประกันเงินฝากทุกบาททุกสตางค์ เมื่อ 56 สถาบันการเงินล้ม และเกิดความเสียต่อสถาบันการเงิน รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบ

นับตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา รัฐบาลใช้คืนเงินต้นน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นดอกเบี้ย โดยชำระในงบประมาณแผ่นดินแต่ละปี ล่าสุด ณ สิ้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เหลือหนี้ 713,391.42 ล้านบาท คิดเป็น 8.30% ของหนี้สาธารณะ และคิดเป็น 4.56% ของจีดีพี

ผ่านไปแล้วกว่า 25 ปี รัฐบาลสามารถชำระหนี้ส่วนนี้ได้เพียง 4 แสนล้านบาท และกว่าจะหมดหนี้ก้อนนี้ หากเทียบเคียงกับการใช้หนี้ที่ผ่านมา อาจต้องใช้เวลาอีก 50 ปี!

รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดูเหมือนจะโชคร้าย เมื่อเผชิญกับวิกฤติในลักษณะเดียวกัน แต่ครั้งนี้กระจายวงกว้างกระทบต่อประชาชนทั่วประเทศ ทำให้ต้องกู้เงินสองครั้ง ครั้งแรก 1,000,000 ล้านบาท ในช่วงการระบาดรอบแรกเมื่อปี 2563 และอีก 500,000 ล้านบาท ในการระบาดรอบที่ 3 รวม 1,500,000 ล้านบาท

เงินกู้ครั้งนี้ มากกว่ากู้เงินในช่วงวิกฤติการเงินปี 2540 รวม 360,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่ได้กู้ทั้งจำนวน แต่เปิช็นเหมือนเปิดวงเงินโอ/ดี ไว้ แต่ก็เชื่อว่าจะใช้จนหมดในเวลาไม่ช้านี้

คำถามก็คือ เงินกู้ก้อนนี้จะใช้เวลากี่ปี จะสามารถชำระหนี้คืนได้หมด?

หากเทียบเคียงกับเงินกู้ในปี 2540 อาจพอคาดเดาได้ว่าเงินกู้ก้อนนี้จะใช้เวลากี่ปี เพราะยิ่งกู้เงินก้อนใหญ่ เงินต้นในแต่ละปีก็จะลดลงน้อยมากกว่า ส่วนใหญ่เป็นดอกเบี้ย และภาระหนี้ทั้งหมดก็คือภาระของคนไทยทั้งประเทศ

หากเทียบเคียงกับเงินกู้ในวิกฤติต้มยำกุ้ง เมื่อเวลาผ่านไป 25 ปี รัฐบาลสามารถชำระเงินกู้ก้อนนี้ได้เพียง 400,000 ล้านบาท และหากรัฐบาลจำแนกเงินกู้ 1.5 ล้านล้านบาท ออกมาเป็นบัญชีต่างหาก (ซึ่งจริง ๆ ไม่ได้แยก) ก็น่าจะเห็นตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 ที่เพิ่งผ่านสภาไปเมื่อไม่นานมานี้

หากคิดตามนี้ เงินกู้ 400,000 ล้านบาท ใช้เวลา 25 ปี ดังนั้น เงินกู้ 1,500,000 ล้านบาท จะต้องใช้เวลาถึง 93.75 ปี ซึ่งหมายถึงว่ารัฐจะใช้เวลาการชำระหนี้ก้อนนี้เกือบ 100 ปี

เป็นราคาที่คนไทยทุกคนต้องจ่ายจากเงินกู้เยียวยาในวิกฤติโควิด!

อ่านข่าวเพิ่มเติม: