The Bangkok Insight

IRPC รุก ‘นวัตกรรม-พลังงาน’ รับเทรนด์โลก ลั่นเพิ่มพอร์ตผลิตภัณฑ์พิเศษเป็น 30% ใน 4 ปี

IRPC รับกระแสเมกะเทรนด์โลก รุกหนักนวัตกรรมวัสดุและพลังงานแห่งอนาคต สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน วางเป้าเพิ่มสัดส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty) สูงถึง 30% ภายในปี 2567 รุกผลิตวัสดุเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม อุปกรณ์ทางการแพทย์ สุขภาพ เครื่องใช้ไฟฟ้า และ  EV   

IRPC-รับเมกะเทรนด์โลก

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี  จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC กล่าวว่าจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดความท้ายทายหลายด้าน ทั้งในการดำเนินธุรกิจและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

แนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงกระแสโลก ซึ่งถือเป็น Global Megatrends ที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมและความเป็นอยู่ของประชาคมโลก โดยเฉพาะหลังเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเทรนด์ที่คนทั่วโลกต่างกำลังให้ความสนใจ คงหนีไม่พ้นเรื่องของสุขภาพ การใช้ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและพลังงานสะอาดที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด 

แผนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในปีนี้จะเน้นการสร้างและพัฒนานวัตกรรมวัสดุและพลังงานแห่งอนาคต เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคทุกรูปแบบในอนาคต ด้วยการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะขับเคลื่อนให้ เติบโตอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้  วางเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (specialty) สูงถึง 30% ภายในปี 2567  จาก 20% ในปี 2564  ด้วยกลยุทธ์ในการใกล้ชิดเข้าถึงผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น (Human centric)  มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ โดยเน้นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตสูง เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการจับมือกับพันธมิตร เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจ 

Screen Shot 2564 05 20 at 10.42.52

“IRPC ได้ตระหนักถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก จึงได้ร่วมทุนกับ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด (บริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้น 100%) จัดตั้ง บริษัท อินโนโพลีเมด จำกัด  ขับเคลื่อนธุรกิจการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจใหม่ ที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญ และเล็งเห็นโอกาสในการสร้างนวัตกรรมเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษไปสู่ Smart Material ที่ตอบสนองผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น และจะช่วยเพิ่มความมั่นคงและแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ ตามนโยบาย Thailand 4.0 สู่การเป็น Medical Hub”

สำหรับผลิตภัณฑ์ผ้าไม่ถักไม่ทอ (Non-woven Fabric) ที่ขึ้นรูปด้วยวิธี Melt Blown มีลักษณะเส้นใยขนาดเล็กและละเอียดในระดับนาโนเมตรถึงไมโครเมตร มีคุณสมบัติในการกรองที่มีประสิทธิภาพสูง ผลิตจากเม็ดพลาสติกโพลีโพรพิลีนชนิดพิเศษ (PP melt blown grade) ที่ได้วิจัยและพัฒนาเป็นบริษัทแรกของประเทศไทย คาดว่าจะเริ่มจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ไตรมาส 4 ปี 2564

Screen Shot 2564 05 20 at 10.33.06 

นอกจากนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อสร้างผลิตภัณท์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ให้ครอบคลุมและหลากหลายมากขึ้น เช่น ถุงอาหาร ถุงเลือด และถุงล้างไตสำหรับผู้ป่วย ที่ผลิตจากเม็ด PP และผลิตภัณท์ NBL หรือ Nitrile Butadiene Latex ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับการผลิตถุงมือแพทย์ ร่วมกับองค์กร ทั้งเอกชน และภาครัฐ สอดรับกับเศรษฐกิจเชิงสุขภาพ ที่มีแนวโน้มการเติบโตอย่างรวดเร็ว

เร่งวิจัยผลิตภัณฑ์ EV หนุนการเติบโต

สำหรับเทรนด์ที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพแวดล้อมและการใช้พลังงานสะอาด ส่งผลให้อุตสาหกรรมรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (EV) เติบโตอย่างมาก ซึ่งอยู่ในแผนพัฒนาอุตสาหกรรม S-Curve ภายใต้แผนการลงทุน EEC และ Roadmap การใช้รถยนต์ EV ในประเทศไทยปี 2578 และถือเป็นกลไกที่จะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมรถยนต์ EV อยู่ในทิศทางที่เติบโตมากขึ้น

IRPC อยู่ในระหว่างการวิจัยและพัฒนาวัสดุที่เป็นส่วนประกอบของแบตเตอรี่ที่เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนารถยนต์ EV เช่น Battery Separator และ Li-Ion Electrode

นอกจากนั้น บริษัทฯ ได้ร่วมทุนกับบริษัท เจแปน โพลิโพรพิลีน คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ JPP ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 50 ของบริษัท ไมเท็กซ์ โพลิเมอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (Mytex Polymers (Thailand) Co. Ltd) รุกตลาดเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษพีพีคอมพาวด์ (Polypropylene Compound: PP Compound) ให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์และรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั้งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ขณะนี้เริ่มดำเนินการผลิตและอยู่ในระหว่างการทดสอบผลิตภัณฑ์ เนื่องจากการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ EV เป็นปัจจัยบวกสำหรับผลิตภัณฑ์ ปิโตรเคมี เพราะมีทิศทางความต้องการใช้พลาสติกเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตของรถยนต์ EV ในสัดส่วนต่อคันที่เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50

ภาพรวมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในเรื่องดีมานต์ เราคิดว่าครึ่งปีแรกเป็นไปได้ด้วยดี จากการขยายตัวในจีนและอาเซียน แต่ในครึ่งปีหลัง เราอาจต้องมี challenge

มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์รับ EV

สำหรับการเตรียมความพร้อมการในเทรนด์อีวี  จะมุ่งไปที่ผลิตภัณฑ์หลัก ๆ ก่อน ต้องทำให้ผลิตภัณฑ์กระทบสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยเฉพาะเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ยังมีอยู่ ตัวการเติบโตของผลิตภัณฑ์น้ำมันดิบจะถึงจุดอิ่มตัวเมื่อไหร่ แปลว่าจะไม่เติบโตเชิงปริมาณอีกตอไป

“หลายองค์กรคาดการณ์ไปข้างหน้า ปี 2035 บ้าง ปี 2530 บ้าง ยังไม่มีใครทราบ แต่ที่ทราบแน่นอนคือความต้องการปริมาณพลังงานของโลกจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ เพราะประชากรของโลกเพิ่มขึ้น อันดับที่สอง การใช้พลังงานมากขึ้น แต่พลังงานที่เราจะส่งเสริมคือพลังงานทดแทน แต่ทำอย่างไรจะใช้พลังงานทดแทนเข้ามาชดเชยการใช้พลังงานฟอสซิลที่เพิ่มขึ้น การใช้พลังงานจากฟอสซิลยังมีอยู่ เราก็จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเราให้มีมาตรฐาน สอดคล้องกับมาตรฐานของโลก อันนั้นเป็นเรื่องผลิตภัณฑ์”

ด้านผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี เรารู้อยู่แล้วว่าเทรนด์ของโลกไปในเรื่องของอีวี ซึ่งเป็นเรื่องความท้าทาย โดยเฉพาะน้ำหนักรถ ความจุแบตเตอรี่ ซึ่งจะพยายามปรับปรุง หรือหาทางให้ผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์แนวโน้มของอีวี เป็นทิศทางที่จะตอบโจทย์ท้าทายของโลกได้

คาดไตรมาสสองปิโตรเคมีหนุนกำไร

สำหรัลแนวโน้มผลประกอบการในไตรมาสแรก กำไรส่วนใหญ่มาจากสต็อกน้ำมัน เนื่องจากราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น แต่สเปรดน้ำมันในไตรมาสแรก อยู่ในระดับที่ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ไม่ได้ดีมาก อย่างไรก็ตาม สัญญาณจากไตรมาสที่สองค่อนข้างชัดเจน สเปรดจะดีขึ้น คาดว่าสเปรดของดีเซลและผลิตภัณฑ์อื่นจะดีตามไปด้วย

สำหรับผลิตภัณฑ์โพลิเมอร์ มั่นใจว่าสเปรดในครึ่งปีแรกจะดีขึ้น แต่ในไตรมาสสองต้องไปดูดีมานด์-ซัพพลายของปิโตรเคมี ซึ่งเชื่อว่า ยังสามารถมีผลประกอบการในส่วนของโตรเคมีที่ดีได้ และส่วนที่เหลือของปีนี้คาดว่าตัวสเปรดจะดีกว่าไตรมาสแรก แต่ว่าผลประกอบการจากสต็อกน้ำมันจะน้อยลง

ราคาหุ้น IRPC ปิดในช่วงเช้าวันนี้ (20 พ.ค.) ราคาไม่เปลี่ยนแปลง อยู่ที่ 3.96 บาท มูลค่าการซื้อขาย 366.77 ล้านบาท

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo