ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าในช่วงที่เหลือของปี 2564 ราคาสินค้าพืชเกษตรหลักส่วนใหญ่จะลดลงเมื่อเทียบกับช่วง 4 เดือนแรก แต่ภาพรวมราคาสินค้าเกษตรของปี 2564 น่าจะประคองการขยายตัวในแดนบวกได้ แม้ชะลอลงเมี่อเทียบกับปีก่อนเนื่องจากฐานที่สูง ขณะที่ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัว
สถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรของไทยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564 พบว่า ราคาสินค้าพืชเกษตรที่สำคัญส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนผ่านดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่ขยายตัวราวร้อยละ 10.4 (YoY) โดยเฉพาะในรายการยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย และปาล์มน้ำมัน เนื่องจากความต้องการสินค้าเกษตรที่ยังมีอยู่ทั้งในและต่างประเทศ
แม้ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เนื่องจากสินค้าเกษตรเป็นสินค้าจำเป็นต่อการบริโภค ทำให้ได้รับผลกระทบไม่มากนัก ขณะที่ราคาข้าวมีราคาปรับตัวลดลง เนื่องจากการแข่งขันในตลาดโลกที่รุนแรงขึ้น นอกจากนี้ เมื่อผนวกกับภาพรวมปริมาณ• ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยราวร้อยละ 1.3 (YoY) เนื่องจากภัยแล้งที่ไม่รุนแรงนัก ส่งผลต่อรายได้เกษตรกรให้ขยายตัวที่ร้อยละ 11.4 (YoY)
มองต่อไปในช่วงที่เหลือของปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ราคาสินค้าพืชเกษตรหลักส่วนใหญ่น่าจะให้ภาพที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วง 4 เดือนแรก ทั้งในรายการข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย เนื่องจากได้รับแรงกดดันเป็น Double Shock ทั้งในฝั่งของอุปทานที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการผลิตมากขึ้น และในฝั่งของอุปสงค์ที่ยังต้องเผชิญกับผลกระทบจากโควิด-19 ที่จะฉุดรั้งความต้องการสินค้าเกษตรจากในประเทศในระดับหนึ่ง
คาดว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2564 ภาพรวมราคาสินค้าเกษตร อาจขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเป็นร้อยละ 0.3-1.3 (YoY) ขณะที่ผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1-2.1 (YoY) ส่งผลต่อรายได้เกษตรกรขยายตัวได้ร้อยละ 1.9-2.9 (YoY)
สำหรับภาพรวมทั้งปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาพรวมราคาสินค้าเกษตรน่าจะประคองการขยายตัวในแดนบวกได้ (แม้จะชะลอลงเนื่องจากฐานที่สูงในปี 2563) ไปอยู่ที่ร้อยละ 3.5-4.5 (YoY) ขณะที่ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 1.0-2.0 (YoY) ส่งผลต่อรายได้เกษตรกรให้ขยายตัวในกรอบร้อยละ 5.0-6.0 (YoY) ซึ่งสูงกว่าอัตราการขยายตัวในปี 2563
ทั้งนี้ พืชที่มีราคาเพิ่มขึ้นอย่างยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย น่าจะทำให้รายได้เกษตรกรกลุ่มนี้อยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่พืชที่มีราคาลดลงอย่างข้าว อาจส่งผลกระทบกดดันต่อ
รายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ดังนั้น ข้าว จึงน่าจะเป็นพืชที่ได้รับความช่วยเหลือเฉพาะหน้าจากภาครัฐก่อนเป็นอันดับแรก ผ่านการดำเนินงานด้านนโยบายการเกษตรของภาครัฐที่มีความต่อเนื่องจากโครงการเดิมที่ได้ดำเนินการไปแล้วในปีก่อนโดยเฉพาะโครงการประกันรายได้เกษตรกร (เฟส 2) จะนับเป็นสิ่งที่ดีในจังหวะเวลาที่เหมาะสมคือ เป็นช่วงที่ราคาสินค้าเกษตรในภาพรวมมีแนวโน้มการขยายตัวที่ลดลง ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนด้านรายได้ให้กับเกษตรกรในระดับหนึ่ง
อ่านข่าวเพิ่มเติม:
- ‘ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส.’ คาดแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรเดือน พ.ค. ปรับเพิ่มขึ้น
- ไทยส่งออกข้าวไตรมาสแรกวูบ 23% ร่วงอยู่อันดับ 3 เจอเวียดนามแซงแน่
- ธกส.อัดฉีดเงินช่วยผู้ประกอบการภาคเกษตรฝ่าวิกฤติโควิด