The Bangkok Insight

โพลที่ซ้ำเติม “บิ๊กตู่” และ ทำลายตัวเอง กับปัญหาทางวิชาการ

Avatar photo
2042

ท่ามกลางคนด่ารัฐบาลกันทั้งบ้านทั้งเมืองในเรื่องการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบที่สาม จู่ ๆ ก็มีโพลโผล่ขึ้นมาเชียร์อย่างออกหน้าออกตา ทำให้ต้องตั้งคำถามว่าจะทำไปทำไม เสียเวลาเปล่า

นั่นคือ สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL)

ซูเปอร์โพล

นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักฯ รายงานการเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง “ผู้นำ ฝ่าโควิด ของไทย วันนี้ กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ” โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,224 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 24 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา

เมื่อดูหลักการทำก็ดูเหมือนแปลกประหลาดเข้าไปอีก แหม! มีการอ้างว่า “วิจัยเชิงปริมาณ” และ “เชิงคุณภาพ”เสียด้วย และเมื่อดูเวลาที่ทำแค่สัปดาห์เดียว ก็ชี้ชัดอยู่แล้ว “ไม่มีทางทำได้เด็ดขาด” ให้เป็นเซียนวิจัยมาจากไหนก็เถอะ

แต่ก็อยากรู้เหมือนกันไอ้ที่เรียกว่า “เชิงคุณภาพ”นั้นมีหน้าตาเป็นไง คงไม่ใช่แค่ให้เด็กนั่งโทรไปบ้านโน้นบ้านนี้นะครับ ในครั้งต่อ ๆ ไป หากจะแถลงแบบนี้กรุณาชี้แจงด้วยครับ เพราะเดี๋ยวคนที่ทำวิจัยเป็นเขาจะนินทาว่าอ้างเพื่อให้ดูขลัง!

เมื่อวิธีการทำโพลเป็นอย่างนี้ ผลโพลก็ออกมาอย่างประหลาด ๆ โดยมีการตั้งคำถาม ดังนี้

เมื่อสอบถามถึงลักษณะผู้นำฝ่าวิกฤตโควิดที่ประชาชนต้องการ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.9 ช่วยเหลือประชาชน ด้วยความรวดเร็วฉับไว รองลงมาคือ ร้อยละ 65.3 มีเอกภาพสั่งการครอบคลุมทุกมิติ ร้อยละ 61.7 เด็ดขาดชัดเจน ร้อยละ 57.5 ซื่อสัตย์สุจริต ไม่โกงกิน ร้อยละ 57.2 เปิดใจกว้างรับฟังรอบด้าน ร้อยละ 57.2 นำคนดี คนเก่ง มาช่วยทำงาน ร้อยละ 54.8 เป็นผู้นำที่พึ่งได้ ร้อยละ 53.7 เข้าใจข้อมูลและใช้ข้อมูลเป็น ร้อยละ 43.3 ตัดสินใจเด็ดเดี่ยว ไม่กลัวเสียอำนาจ และร้อยละ 40.9 เป็นตัวของตัวเอง เป็นคนอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อ ผู้นำประเทศและหัวหน้าส่วนราชการในสถานการณ์โควิดรอบใหม่ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.1 ต้องการผู้นำที่เด็ดขาดและมีความรับผิดชอบสูง รองลงมาคือ ร้อยละ 92.4 เอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่ปล่อยปละละเลยและทุจริต ร้อยละ 84.2 ระบุผู้นำในวิถีประชาธิปไตย ที่เปิดกว้างรับฟังและให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม และร้อยละ 83.5 ระบุผู้นำที่ต้องเข้มงวดบังคับใช้กฎหมายจริงจัง

ที่น่าสนใจคือ ถ้าวันนี้เลือกได้ จะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี ผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 42.6 ระบุ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รองลงมาคือ ร้อยละ 23.8 ระบุ คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ร้อยละ 9.6 ระบุ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และร้อยละ 24.0 ระบุอื่น ๆ นอกจากนี้ ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้งจะเลือกพรรคใด พบว่า ร้อยละ 37.9 จะเลือกพรรคพลังประชารัฐ รองลงมาคือ ร้อยละ 11.3 จะเลือกพรรคก้าวไกล ร้อยละ 10.0 จะเลือกพรรค ไทยสร้างไทย ร้อยละ 9.5 จะเลือกพรรคเพื่อไทย และร้อยละ 31.3 ระบุอื่น ๆ

ผอ.ซูเปอร์โพล แถลงผลโพลเพียงเท่านี้ ก่อนที่จะสรุปดื้อ ๆ ว่า ผลโพลยังสะท้อนความเชื่อมั่นและสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ทำหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรี ถือธงนำแก้วิกฤตโควิดครั้งนี้ให้ผ่านพ้นไปให้ได้ ด้วยความศรัทธาจากประชาชนมากขึ้น หากปรับการทำงานโดยการบริหารจัดการข้อมูลอย่างรอบด้าน และเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางตามที่ประชาชนอยากเห็น

ผอ.ซูเปอร์โพล บอกว่าอีกว่าผลโพลยังแสดงถึงความเชื่อมั่นพรรคการเมือง ที่สะท้อนจากการลงพื้นที่ของผู้แทนประชาชนในการทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของชาวบ้าน ช่วยเหลือแก้ไขและผลักดันทางนโยบายในยามวิกฤต ที่ไม่มุ่งแต่ทำการเมืองสร้างภาพและโดยทำมากกว่าพูด

เมื่อดูจากผลวิจัยตามที่ผอ.ซูเปอร์โพลของเราสรุปมาให้ ก็ประหลาดพอ ๆ กับการตั้งคำถามนะแหละครับ อย่างกรณี 2 คำถามแรก ไม่รู้ตั้งคำถามถูก Methodology การวิจัยหรือเปล่า เป็นคำที่นามธรรมมาก ๆ เหมือนโยนคำถามไปให้คนในสังคมตอบ ซึ่งก็เป็นคำตอบที่รู้อยู่แล้ว คำถามอย่างนี้ทางวิชาการเขาเรียกว่า “เสียเวลาเปล่า” ไม่มีประโยชน์

อาทิ ในสังคมที่มีการใช้อำนาจอย่างผิด ๆ มาก และโกงกินมาก คุณถามว่าอยากได้ผู้นำแบบไหน ก็คงไม่มีใครตอบว่า “อยากได้คนบ้าอำนาจ” และ “คนโกงมาก ๆ” จริงไหม?

ส่วนคำถามที่สาม ที่ผอ.ซูเปอร์โพลของเราบอกผลสำรวจ จากคำถามที่ว่าในวันนี้จะเลือกใครเป็นนายกฯ ผลปรากฏพล.อ.ประยุทธ์ นำโด่ง ซึ่งข้อนี้ ถ้าผลออกไปอย่างนี้จริง ก็โมทนาด้วย แสดงว่าคนไทยชอบอกชอบใจการบริหารงานของรัฐบาล

แต่จากกระแสด่ากัน“กระหึ่มเมือง” แน่ใจหรือเปล่าว่าเก็บข้อมูล “ถูกต้อง” แต่ก็ไม่ว่ากัน ถ้าบอกว่าผลออกมาอย่างนี้ เพราะอย่าลืมว่าเสียงที่สนับสนุนพรรคฝ่ายค้าน เมื่อรวม ๆ กันมีมากนะครับ เพราะผลโพลไม่ใช่นับแบบเลือกตั้ง เป็นการวัดความรู้สึกของคนทุกคนตามหลักสถิติ

และที่ขัดใจมาก ๆ ก็ตรงสรุปนี่แหละว่า “ผลโพล”สะท้อนคนเชื่อมั่นและสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เพราะทันทีที่มีข่าวผลสำรวจ หลาย ๆ คน ก็ร้องด้วยเสียงโกรธ “ใครทำ(โพล)วะ”

มีตรงไหนที่บอกอย่างนั้น ท่านผอ.ตีความมากเกินไปหรือเปล่า? แค่คนบอกว่า 42.6% เลือกพล.อ.ประยุทธ์ ก็สรุปได้เลยหรือ? หรือว่าเป็นผลโพลตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำ?

สุดท้ายนี้ อยากจะให้สติคนทำโพล

ข้อแรก ต้องถามตัวเองว่าใครได้ประโยชน์จากการทำโพล ประชาชนได้อะไร ผลที่ออกมาเอาไปใช้อะไรได้ไหม

ข้อสอง ความถูกต้องตามหลักการทำโพล ถือว่ามีความสำคัญหากคุณอ้างว่าใช้วิธีการวิจัยตามหลักวิชาการ เมื่อเปรียบเทียบกับสำนักข่าวใหญ่ ๆ ที่คนไทยมักเรียกว่าโพล แต่เขาก็ไม่เรียกว่าโพล อย่างเช่น ใครจะเป็นประธานาธิบดี เขาก็บอกว่าเป็นการโหวตด้วยเงื่อน ๆ แบบไหน เป็นต้น

ข้อที่สาม อันที่จริงคำว่า “วิชาการ” ไม่มีใครเชื่อว่า “เป็นกลาง”มานานแล้ว แต่การอ้างวิชาการ แล้วเอามาใช้เพื่อเป้าหมายอื่นแบบ “สุดลิ่ม” เป็นสิ่งที่ต้องระวัง ทุกวันนี้สำนักโพลที่เคยใหญ่ในอดีต แต่กลับเสื่อมถอยและหมดความน่าเชื่อถืออย่างรวดเร็วเพียงชั่วข้ามคืน ก็เพราะรับใช้การเมืองอย่างไม่ลืมหูลืมตา แต่หากคุณตอบคำถามข้อแรกชัด ข้อนี้ก็ไม่ต้องกังวลมาก

หากการทำโพล ไม่ยึดประโยชน์ของส่วนรวมตั้งแต่เริ่มต้น ผลสุดท้ายก็ผลก็จะย้อนกลับ ในกรณีนี้อาจจะเป็นการซ้ำเติม “พล.อ.ประยุทธ์” และผลสุดท้ายก็จะเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของตัวเอง

อ่านข่าวเพิ่มเติม: