The Bangkok Insight

คาดสัปดาห์นี้ เงินบาทซื้อขายในกรอบ 31.10-31.40 ดอลลาร์ย่ำฐานตามบอนด์ยิลด์

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.10-31.40 บาท/ดอลลาร์

เงินบาท

เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 31.28 ต่อดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 31.17-31.58 โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 7 เดือน ก่อนจะพลิกกลับมาแข็งค่าเมื่อเทียบรายสัปดาห์ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 7 สัปดาห์ เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินหลัก

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือนแม้ข้อมูลเงินเฟ้อและยอดค้าปลีกสูงเกินคาด ทางด้านประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ระบุว่าเฟดจะลดขนาดโครงการซื้อพันธบัตรรายเดือนลงก่อนที่จะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย สัญญาณดังกล่าวเน้นย้ำว่า เฟดจะยังไม่ปรับนโยบายในอนาคตอันใกล้ โดยเฟดได้ให้คำมั่นที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจต่อไปจนกว่าจะเห็นการฟื้นตัวอย่างชัดเจนมากขึ้น   ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทย 269 ล้านบาท แต่ขายพันธบัตร 927 ล้านบาท

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ตลาดจะติดตามการประชุมธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 22 เมษายน โดยคาดว่าจะไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายในรอบนี้ อนึ่ง ปฏิกิริยาของตลาดบอนด์สหรัฐฯซึ่งไม่ตอบรับข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในสัปดาห์ที่ผ่านมาบ่งชี้ว่าข่าวเชิงบวกอาจถูกสะท้อนอยู่ในอัตราผลตอบแทนพันธบัตรมากพอสมควรแล้ว โดยขาขึ้นของค่าเงินดอลลาร์ถูกจำกัดขณะที่ขาดแรงหนุนจากบอนด์ยิลด์

ส่วนการกระจายวัคซีนในสหภาพยุโรปมีสัญญาณเร่งตัวขึ้นหลังจากที่ประสบความล่าช้าในระยะแรก ทางกลุ่มงานฯประเมินว่าสภาวะดังกล่าวจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ในตลาดโลกพักฐานในช่วงนี้

สำหรับปัจจัยในประเทศ สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังคงรุนแรง แม้มาตรการควบคุมการแพร่เชื้อไม่เข้มงวดเหมือนการแพร่ระบาดระลอกแรกแต่รัฐบาลคาดว่าเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้จะพลาดเป้าหมายที่รัฐตั้งไว้ที่ 4%

อย่างไรก็ดี สิ่งที่จะกระทบความเชื่อมั่นอย่างมีนัยสำคัญคือแนวทางและความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดหาและกระจายวัคซีนซึ่งควรเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด

นอกจากนี้ ตลาดจะจับตาข้อมูลส่งออกและนำเข้าเดือนมีนาคมเช่นกัน ส่วนกรณีไทยถูกจัดอยู่ใน Monitoring List ของ กระทรวงการคลังสหรัฐฯเรื่องการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนต่อเนื่องจากการประเมินครั้งก่อนเมื่อเดือนธันวาคม 2563 จากเกณฑ์การเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯมากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงเกิน 2% ของจีดีพีนั้น คาดว่าในปีนี้บัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลแคบลงจากรายได้ภาคท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทยมีแนวโน้มเข้าดูแลค่าเงินบาทตามความจำเป็นเพื่อลดความผันผวน

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo