The Bangkok Insight

ผลตอบแทนพันธบัตรพุ่ง ทุบ ‘ดาวโจนส์’ ร่วง 200 จุด

ตลาดหุ้นสหรัฐ ซื้อขายช่วงเช้าวันนี้ (25 ก.พ.) ตามเวลาท้องถิ่น โดยที่ดัชนีหลักๆ พากันเดินสู่ขาลง ท่ามกลางแรงเทขายหุ้นตัวใหญ่ในกลุ่มเทคโนโลยี ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลตอบแทนพันธบัตร ที่ยังพุ่งสูงอยู่ ขณะตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ลดลงเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวล่าสุดที่ 31,761.20 จุด ร่วงลง 200.66 จุด หรือ 0.63% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ที่ 3,886.90 จุด ลดลง 38.53 จุด หรือ 0.98% และดัชนีแนสแด็กที่ 13,407.46 จุด ดิ่งลง 190.51 จุด หรือ 1.40%

ตลาดหุ้นสหรัฐ

ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นกว่า 400 จุดแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์วานนี้ (24 ก.พ.) โดยได้ปัจจัยบวก จากถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งช่วยให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐ ยังได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อหุ้นกลุ่มที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงหุ้นกลุ่มธนาคาร อุตสาหกรรม และพลังงาน

อย่างไรก็ดี บรรยากาศการซื้อขาย ยังคงถูกกดดันในวันนี้ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อายุ 10 ปี ดีดตัวเหนือระดับ 1.46% ซึ่งเป็นระดับสูงสุด นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563  ท่ามกลางความวิตกว่า การดีดตัวขึ้น ของอัตราผลตอบแทน พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ จะส่งผลกระทบต่อบริษัท ที่ได้รับประโยชน์ จากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระดับต่ำ และจะลดความน่าดึงดูด ของการลงทุนในหุ้น ทำให้นักลงทุนหัน เข้าสู่ตลาดพันธบัตรแทน

อย่างไรก็ดี นายพาวเวลกล่าวว่า การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล เกิดจากการคาดการณ์เงินเฟ้อ และการขยายตัวที่สูงขึ้น รวมทั้งเป็นการส่งสัญญาณความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐ

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ลดลงมาอยู่ที่ 730,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว แตะระดับต่ำสุด นับตั้งแต่สัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 28 พฤศจิกายน 2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 845,000 ราย

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐ ยังได้ปรับลดตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ มาอยู่ที่ 841,000 ราย จากเดิมรายงานที่ 861,000 ราย

ส่วนจำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องลดลง 101,000 ราย มาอยู่ที่ 4.42 ล้านราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด นับตั้งแต่สัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 21 มีนาคม 2563

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 4/2563 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 4.1% โดยปรับตัวดีกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ที่ระดับ 4.0%

การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 4/2563 ได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของการส่งออก และการใช้จ่ายของผู้บริโภค แม้ว่าการใช้จ่ายในภาครัฐปรับตัวลง

เมื่อพิจารณาทั้งปี 2563 เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 3.5% โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2489

นอกจากนี้ เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 33.4% ในไตรมาส 3/2563 ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ที่สหรัฐเริ่มมีการรวบรวมข้อมูลในปี 2490 หรือกว่า 70 ปี จากการที่สหรัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และมีการเปิดเศรษฐกิจ หลังจากหดตัว 31.4% ในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นการหดตัวรุนแรงเป็นประวัติการณ์ และหดตัว 5% ในไตรมาส 1 ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากมีการหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐ จะดีดตัวขึ้นในปีนี้ โดยได้ปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล, การฉีดวัคซีนโควิด-19 ในวงกว้าง และการที่เฟด ยังคงใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ส่งผลให้เกิดคาดการณ์กันว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 9% ในไตรมาส 1/2564 และจะขยายตัว 6% ในปีนี้ ซึ่งเป็นการขยายตัวมากที่สุด นับตั้งแต่ที่เศรษฐกิจเติบโต 7.2% ในปี 2527

นายพาวเวล ประธานเฟด คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐ มีแนวโน้มขยายตัว 6% ในปีนี้ ขณะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น จากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 หลังมีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนเป็นวงกว้าง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo