The Bangkok Insight

โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ (กฟผ.)

การส่งเสริมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ถือเป็นพลังงานหมุนเวียนที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหลาย ๆ ประเทศรวมถึงประเทศไทย เพราะเป็นพลังงานสะอาดไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม

แต่ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องสภาพภูมิอากาศที่ผันผวน หรือหากความเข้มของแสงแดดน้อยก็จะผลิตกระไฟฟ้าได้ต่ำ และไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะช่วงกลางคืนที่ไม่มีแสงสว่าง ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ยังไม่เสถียร จึงยังไม่สามารถทดแทนพลังงานจากฟอสซิลได้

โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะรัฐวิสาหกิจ ที่ดูแลความมั่นคงในการจัดหา และผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศให้เพียงพอ พยายามลดข้อจำกัดของโซลาร์เซลล์ เห็นจุดแข็งของประเทศไทยที่มีความพร้อมของระบบสาธารณูปโภคทั้งอ่างเก็บกักน้ำ และเขื่อนกระจายอยู่ทั่วประเทศ จึงริเริ่มวิจัยและพัฒนานำโซลาร์เซลล์มาติดตั้งบนผิวน้ำ หรือเรียกว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ นอกจากจะมีข้อดี ลดการใช้พื้นที่บนบกแล้ว ยังนำระบบไฮบริด มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าการติดตั้งบนพื้นดิน

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 มีมติเห็นชอบ และอนุมัติตามที่ กระทรวงพลังงาน เสนอให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนิน โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ (Hydro-Floating Solar Hybrid) ร่วมกับ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร วงเงินลงทุนรวม 2,265.99 ล้านบาท โดยอนุมัติการเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนประจำปี 2562 สำหรับโครงการดังกล่าว รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 643.09 ล้านบาท

ตอนที่ 6 01 e1638858167186

โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ ของ กฟผ.

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงจัดทำ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ ร่วมกับ โรงไฟฟ้าพลังน้ำของเขื่อน กฟผ. ด้วยระบบผสมผสาน หรือ ระบบไฮบริด (Hydro-Floating Solar Hybrid) หรือ “โซลาร์ลอยน้ำในเขื่อน” โดยนำร่องแห่งแรกที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ พื้นที่ติดตั้งทั้งหมด 450 ไร่ ถือเป็น โครงการโซลาร์เซลล์ทุ่นลอยน้ำแบบไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีแผนจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) ในเดือนธันวาคม 2563 ตาม แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 (PDP 2018)

การผลิตไฟฟ้าระบบไฮบริด คือการผสมผสานระหว่าง “พลังงานแสงอาทิตย์” ร่วมกับ “พลังน้ำ” โดยโซลาร์เซลล์จะผลิตไฟฟ้าในช่วงกลางวัน และนำพลังน้ำมาเสริมในช่วงที่ความเข้มแสงไม่เพียงพอ หรือในช่วงเวลากลางคืน พร้อมนำระบบการจัดการพลังงาน (Energy Management System: EMS) มาควบคุมการส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้า จึงช่วยลดความไม่เสถียรของพลังงานหมุนเวียน และยังใช้ทรัพยากรของโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธรที่มีอยู่เดิมให้เกิดความคุ้มค่า และได้ประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าเป็นหม้อแปลงไฟฟ้า อุปกรณ์ปรับแรงดัน อุปกรณ์ป้องกันต่าง ๆ และระบบส่งไฟฟ้า

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ชนิดดับเบิลกลาส (Double Glass) มีลักษณะเป็นแผ่นกระจกทั้งด้านบนและด้านล่าง ทำให้มีการระบายความร้อนได้ดี และป้องกันความชื้น จึงปลอดภัยต่อการใช้งาน มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ช่วยลดปริมาณขยะแผงเซลล์แสงอาทิตย์ และใช้ทุ่นลอยน้ำชนิด HDPE (High Density Polyethylene) ซึ่งเป็นวัสดุประเภทเดียวกับท่อส่งน้ำประปา จึงไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้อุณหภูมิที่ผิวน้ำ ซึ่งเย็นกว่าบนดิน ช่วยระบายความร้อนแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ทำให้ผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้นกว่าประมาณ 10% ทุ่นลอยน้ำไม่ได้ปกคลุมผิวน้ำทั้งหมด มีส่วนที่เป็นช่องเปิดให้อากาศถ่ายเทเข้าสู่ผิวน้ำได้ และให้แสงส่องผ่านลงใต้น้ำได้ ที่สำคัญไม่ใช้วัสดุที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้ จึงปลอดภัยตลอดอายุการใช้งาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศมาผลิตไฟฟ้าอีกด้วย

ทั้งนี้ตาม แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 (PDP 2018) ได้กำหนดสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ อยู่ที่ 2,725 เมกะวัตต์

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้จัดทำแผนลงทุนระบบ Hydro-Floating Solar Hybrid ทั้งหมด 9 เขื่อน คือ เขื่อนสิรินธร เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนภูมิพล เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนบางลาง เขื่อนรัชชประภา และเขื่อนสิริกิติ์ แบ่งเป็น 16 โครงการ กำลังผลิตรวม 2,725 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเริ่มทยอยเข้าระบบตั้งแต่ ปี 2563-2580

กฟผ. จะประเมินผลจากโครงการนำร่องที่เขื่อนสิรินธรก่อน จากนั้นมีแนวคิดที่จะเสนอขออนุมัติการลงทุนเป็นแพ็คเกจต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้การลงทุนมีต้นทุนถูกลง และช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าให้ได้มากที่สุด

ตอนที่ 6 02 e1638858228681

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยังทำหน้าที่ตรวจสอบต้นทุนของ “โครงการโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ.” เพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศ ดังนั้นผู้ใช้ไฟฟ้ามั่นใจได้ว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ทั้งในแง่ความมั่นคงด้านไฟฟ้า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท. ได้เล็งเห็นถึงโอกาสพัฒนาการใช้พลังงานหมุนเวียนที่สอดรับกับนโยบายรัฐ โดยริเริ่มโครงการนำร่องการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้า จากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดลอยน้ำทะเล (Floating Solar) แห่งแรกในประเทศไทย ขนาด 100 กิโลวัตต์ ในพื้นที่ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT Tank) ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ซึ่งมีพื้นที่ติดทะเลเหมาะต่อการเป็นต้นแบบติดตั้งการใช้งาน

ภายใต้โครงการนี้ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) พัฒนาเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษเพื่อนำมาผลิตทุ่นลอยน้ำ เพิ่มสารลดการสะสมของเพรียงทะเล ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์ทะเล

บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) ให้บริษัทลูก คือ บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP) เป็นผู้ออกแบบและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในน้ำทะเล โดยระยะแรกจะนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปใช้ภายในสำนักงาน

คาดว่าสามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าให้ PTT Tank ปีละ 390,000 บาท ตลอดอายุโครงการที่ 7.8 ล้านบาท และช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงปีละ 36 ตัน ตลอดอายุโครงการกว่า 725 ตัน เป็นการต่อยอดองค์ความรู้ และสร้างแหล่งเรียนรู้พลังงานหมุนเวียนให้แก่ชุมชน เยาวชนในพื้นที่ รวมถึงผู้ที่มีความสนใจทั่วไป ในอนาคตอาจพัฒนารูปแบบทางธุรกิจต่อไป

“พลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ” จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน สามารถใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight