The Bangkok Insight

ค้าปลีกชงปรับวิธีประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรี ดันไทย‘ช้อปปิ้ง ทัวริซึ่ม’

การท่องเที่ยวเชิงช้อปปิ้ง หรือ Shopping Tourism ถือเป็นอีกกลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย  จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวต่อเนื่อง ปีที่ผ่านมามีจำนวน 35 ล้านคน ถือเป็นอันดับ 9 ของโลก ขณะที่ “กรุงเทพฯ”คว้าตำแหน่งอันดับ 1 ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยี่ยมเยือนสูงสุด

คณะนิติศาสตร์และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาเรื่อง “สัมปทานดิวตี้ฟรี ก้าวสู่สากล (Best Practice)” โดยหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการให้สัมปทานร้านปลอดภาษีอากรของไทยให้มีศักยภาพสูงสุด ส่งเสริมให้ประเทศไทยกลายเป็นช้อปปิ้ง เดสทิเนชั่น (Shopping Destination) ที่นักท่องเที่ยวต่างต้องการมาเยือนมากที่สุด

d1

ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมผู้ค้าปลีกไทย  กล่าวว่าจากการศึกษาธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีอากรในไทย ของสมาคฯ มากว่า 6-7 ปี  ด้วยวัตถุประสงค์ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพและรายได้ของประเทศไทยจากธุรกิจค้าปลีกเพื่อการท่องเที่ยว  เพราะประเทศไทย ถือเป็น “จุดหมาย” ท่องเที่ยวติดอันดับโลก  โดย 40%  เป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและมีการใช้จ่ายสูง

แต่การให้บริการนักท่องเที่ยวกลับยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร โดยสนามบินสุวรรณภูมิ อยู่ในอันดับ 38 จาก 100 อันดับของสนามบินทั่วโลก อีกทั้งธุรกิจดิวตี้ฟรี ยังขาดการแข่งขัน ส่งผลให้ประเทศไทยมีรายได้จากสินค้าปลอดภาษีน้อยกว่าที่ควร

เมื่อมองไปที่ธุรกิจค้าปลีกในสนามบินสุวรรณภูมิ พบว่ามีผลการประเมินจากดัชนี ชี้วัด 5 ปัจจัย ที่ต่ำกว่าเกณฑ์ ได้แก่

1.การเสนอขายสินค้าปลอดภาษีมีกลุ่มสินค้าและตัวเลือกร้านค้า และแบรนด์ที่จำกัด ไม่มีความหลากหลาย ทำให้ขาดการแข่งขันเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการค้าปลีก ได้แก่ เกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์

2.สนามบินแต่ละแห่งในประเทศข้างต้นใช้ระบบ “สัมปทานตามหมวดหมู่สินค้า” ไม่ใช่แบบ “สัมปทานรายใหญ่รายเดียว” เหมือนอย่างประเทศไทย

3. อายุของสัมปทานที่สนามบินข้างต้น มีระยะเวลาสั้นกว่า โดยมีระยะเวลา 5-7 ปี ในขณะที่ประเทศไทยมีอายุสัมปทาน 10 ปี

4. ค่าธรรมเนียมสัมปทานเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 30%  ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่ 15%

5. เกณฑ์การพิจารณาการประมูล โดยทั่วไปเกณฑ์มาตรฐานสากลมักพิจารณาจากข้อเสนอด้านธุรกิจ  สัดส่วน 60% และข้อเสนอด้านราคา 40%  หรือในบางประเทศ พิจารณาเป็น 2 ขั้นตอน คือถ้าผ่านการพิจารณาด้านธุรกิจ จะใช้ข้อเสนอทางด้านราคาเป็นเกณฑ์เพียงด้านเดียว  แต่สำหรับประเทศไทย ในสัมปทานฉบับใหม่อาจให้เกณฑ์การพิจารณาที่ไม่สมดุลนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

ปัจจุบันสัมปทาน ดิวตี้ ฟรี ที่บริหารโดย “คิง เพาเวอร์” กำลังจะสิ้นสุดสัญญาในปี 2563  โดยบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)  หรือ ทอท. เจ้าของพื้นที่ เตรียมออก “ทีโออาร์” หลักเกณฑ์ประมูลสัมปทาน ให้ทันในเดือน มี.ค.นี้

ดร.ฉัตรชัย
ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์

ฉัตรชัย ให้มุมมองว่าหลักเกณฑ์การประมูลสัมปทาน ดิวตี้ ฟรี  ครั้งใหม่  ควรปรับเปลี่ยนวิธีการจากการให้สัมปทานรายเดียว เป็นรูปแบบอื่นๆ เพื่อให้เกิดการแข่งขัน  และผลักดันประเทศไทยสู่ ช้อปปิ้ง เดสทิเนชั่น และกระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงช้อปปิ้ง เพราะดิวตี้ ฟรี เป็นส่วนหนึ่งของภาคค้าปลีก ที่มีมูลค่า  3.6 ล้านล้านบาทต่อปี  คิดเป็นสัดส่วย  1.ใน 4 หรือ 20% ของจีดีพี

จากรายงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในปี 2556  คนไทยเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศใช้จ่ายเป็นมูลค่า  1.5 แสนล้านบาท  ในจำนวนนี้มูลค่า  5.6 หมื่นล้านบาท  ใช้จ่ายไปกับการช้อปปิ้งสินค้าในดิวตี้ฟรี หรือแบรนด์เนมในต่างประเทศ  มองว่าถ้าลดลง 50% น่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทย

นโยบายการท่องเที่ยวไทย เริ่มจาก sea sun sand  ตามด้วยวัฒนธรรม  แต่การดึงนักท่องเที่ยวเดินทางมาซ้ำ  ต้องหาแรงจูงใจใหม่ สิ่งที่ตอบโจทย์ คือ  ช้อปปิ้ง  เพราะการเลือกจุดหมายท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวจะถามถึงเมืองชอปปิง โรงแรมที่พัก เป็นปัจจัยสำคัญเช่นเดียวกับแหล่งท่องเที่ยว ดังนั้นทุกประเทศจึงมุ่งไปที่การเป็น “ช้อปปิง ทัวริซึ่ม”

ทั้งนี้ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้ศึกษาในประเด็นเกี่ยวกับธุรกิจดิวตี้ ฟรี ที่น่าสนใจ ดังนี้

1. ควรเปลี่ยนรูปแบบสัมปทานของไทยจากสัมปทานรายใหญ่รายเดียว เป็นสัมปทานตามหมวดหมู่สินค้า  เพราะ สนามบินขนาดใหญ่ทั่วโลกจะดำเนินธุรกิจดิวตี้ฟรีในระบบ Concession by Category หรือสัมปทานตามหมวดหมู่สินค้าเป็นส่วนใหญ่

หมายถึงการจัดสรรพื้นที่สัมปทานตามหมวดสินค้า อาทิ เครื่องสำอาง สุราและบุหรี่ สินค้าแฟชั่น ฯลฯ โดยผู้ประกอบการแต่ละรายจะได้รับสัมปทานในแต่ละหมวดสินค้า ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพและได้ผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ส่งผลให้ลูกค้าได้รับสินค้าและบริการที่ดี

ปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นสนามบินขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวที่ยังคงใช้ระบบ Master Concession คือ การให้สัมปทานผู้ประกอบการดิวตี้ ฟรีรายใหญ่ เพียงรายเดียวสำหรับทุกหมวดสินค้า

2. ควรพิจารณาปรับอายุการรับสัมปทาน การให้สัมปทานในต่างประเทศจะมีอายุเฉลี่ย 5-7 ปี ในขณะที่ประเทศไทยมีอายุเริ่มต้นที่ 10 ปี  ในกรณีของสนามบินสุวรรณภูมิ ได้มีการอนุมัติให้ขยายอายุสัมปทานเพิ่ม 2 ครั้ง เพื่อชดเชยการประท้วงปิดสนามบินเพียง 1 สัปดาห์ และชดเชยภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ส่งผลให้มีระยะเวลาสัมปทานรวมทั้งสิ้น 14 ปี

3. ควรพิจารณาปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมสัมปทานให้สูงขึ้น อัตราค่าผลประโยชน์ตอบแทนสัมปทานในไทยยังต่ำกว่าในต่างประเทศค่อนข้างมาก โดยอยู่ที่ 15-19%  ของรายได้จากการประกอบกิจการ ส่วนในต่างประเทศจะอยู่ที่ 25-47%  ขึ้นอยู่กับหมวดหมู่สินค้า ส่งผลให้ ทอท. และภาครัฐสูญเสียโอกาสทางรายได้

4. ควรพิจารณาปรับสัดส่วนหรือขั้นตอนการประเมินผลจากข้อเสนอทางธุรกิจและข้อเสนอราคา การพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะสัมปทานในต่างประเทศ จะพิจารณาจากคุณภาพของแผนธุรกิจ 60% และปัจจัยด้านราคา 40% หรือพิจารณาใน 2 ขั้นตอนในขณะที่แนวโน้มของประเทศไทย คือ พิจารณาจากปัจจัยเชิงธุรกิจ 80% และปัจจัยด้านราคาเพียง 20%

“หากเกิดการเปลี่ยนแปลงการประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรี รอบใหม่ได้จริง จะส่งผลให้ธุรกิจดิวตี้ฟรีในประเทศไทยมีโอกาสเติบโตได้อีกมากหากเกิดการแข่งขันที่มีประสิทธิภาพ มีสินค้าและบริการที่หลากหลายขึ้น”      โดยมองว่าประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ คือ  การเพิ่มอัตราการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยว ปัจจุบันการใช้จ่ายในดิวตี้ฟรีของนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยยังมีอัตราต่ำ รวมทั้งการเพิ่มจานวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาประเทศไทย นอกจากนี้จะช่วยดึงคนไทยให้กลับมาใช้จ่ายในประเทศแทนการใช้จ่ายต่างประเทศ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย

 

 

 

Avatar photo