Economics

นักวิชาการจี้เปิดแข่งขันประมูลสัมปทาน ‘ดิวตี้ฟรี’

ปัจจุบันเศรษฐกิจทั่วโลกพึ่งพารายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว  โดยการท่องเที่ยวเชิงช้อปปิ้ง(Shopping Tourism) ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวชั้นนำของโลก โดยปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35 ล้านคน คิดเป็นอันดับที่ 9 ของโลก และกรุงเทพฯ เป็นเมืองอันดับ 1 ของโลกที่นักท่องเที่ยวมาเยือนแบบค้างแรม

ขณะที่การให้บริการนักท่องเที่ยวกลับยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร โดยสนามบินสุวรรณภูมิอยู่ในอันดับ 38 จาก 100 อันดับของสนามบินทั่วโลก อีกทั้งธุรกิจ “ดิวตี้ ฟรี” ยังขาดการแข่งขัน ส่งผลให้ประเทศไทยมีรายได้จากสินค้าปลอดภาษีน้อยกว่าที่ควร

คณะนิติศาสตร์และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาเรื่อง สัมปทานดิวตี้ฟรี ก้าวสู่สากล (Best Practice)” ในมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์และกฎหมายแข่งขันทางการค้า  โดยหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการให้สัมปทานร้านปลอดภาษีอากรของไทยให้มีศักยภาพสูงสุด ส่งเสริมให้ประเทศไทยกลายเป็นช้อปปิ้งเดสทิเนชั่น (Shopping Destination) ที่นักท่องเที่ยวต่างต้องการมาเยือนมากที่สุด

d1

ดร.ศักดา ธนิตกุล อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าหากมองมุมของ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542  ที่ประกาศใช้กว่า 20 ปีที่ผ่านมา พบว่ายังไม่มีคดีใดไปถึงศาลอาญา  จึงถูกมองว่าเป็น กฎหมาย “เสือกระดาษ” ที่ไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง

ดังนั้น พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560  จึงปรับปรุงและแก้ไขกฎหมาย ให้สามารถบังคับใช้ได้จริง ทั้งด้านบทลงโทษผู้กระทำผิด โดยใช้กฎหมายอาญาและป้องกันการผูกขาด ที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งในต่างประเทศ นักธุรกิจ ที่เข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายแข่งขันทางการค้า จะบังคับใช้กฎหมายอาญาในการลงโทษ

สำหรับ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560  มาตรา 4 ได้กำหนดให้ รัฐวิสาหกิจ ที่ดำเนินธุรกิจแข่งขันกับเอกชน อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ จากเดิมไม่ได้กำหนดไว้  ขณะที่การให้สัมปทานเอกชนของรัฐวิสาหกิจ ไม่เข้าหลักเกณฑ์ ตามมาตรา 4  เนื่องจากการให้สัมปทานมีกฎหมายอื่นกำกับดูแลอยู่แล้ว แต่ตามมาตรา 17 (11)  คณะกรรมการตาม พ.ร.บ.  สามารถเสนอความเห็นและให้คำแนะนำ รัฐมนตรีและรัฐวิสาหกิจเจ้าของสัมปทาน เกี่ยวกับเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การกำหนดทีโออาร์ประมูลสัมปทานต่างๆ ได้  เพื่อให้ทุกภาคส่วน ทั้งรัฐวิสาหกิจ ผู้ประกอบการ  ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม  ผู้อำนวยการระดับสูง กรมการค้าภายใน  กล่าวว่าภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ที่มุ่งให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน  ดังนั้นการกำหนดเงื่อนไขทีโออาร์ การประมูลสัมปทานกับเอกชนของรัฐวิสาหกิจต่างๆ จะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ  พร้อมเปิดกว้างและดำเนินการอย่างโปร่งใส ให้สอดคล้องกับนโยบายชาติ และตอบโจทย์การสร้างประโยชน์สูงสุด

d2

ดร.พัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์  คณะเศรษฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวว่า รูปแบบการประมูล ที่มีประสิทธิภาพ จะต้องดำเนินการภายใต้ความโปร่งใส และสร้างรายได้สูงสุดให้ประเทศชาติ   ด้วยการเสนอราคาอย่างตรงไปตรงมา ซึ่ง “ราคา”ประมูล เป็นดัชนีชี้วัดราคาตลาด  อีกทั้งการประมูลยังเป็นการ กระตุ้นผู้ประกอบการรายเดิม พัฒนาประสิทธิภาพ ให้มีการลงทุนเพื่อการแข่งขัน

ปัจจัยสำคัญของการประมูล จะต้องมาจากกำหนดเงื่อนไข สัญญาที่มีความโปร่งใส  และรักษาผลประโยชน์ประเทศชาติสูงสุด

ดร.เดือนเด่น  นิคมบริรักษ์  ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าปัจจุบันสัมปทานดิวตี้ ฟรี แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ  ในสนามบิน และในเมือง(ซอยรางน้ำ) โดยมีจุดส่งมอบสินค้า (Pick-up counter) ที่สนามบิน   ในต่างประเทศเปิดแข่งขันทั้ง 2 ส่วน  เช่น เกาหลีใต้ ซื้อสินค้าที่ดิวตี้ฟรี ในเมือง ที่มีถึง 6 แห่ง และไปส่งมอบสินค้าที่สนามบินได้ ขณะที่ไทยมีรายเดียว จึงต้องกลับมาพิจารณาว่า ทำไมต้องมีรายเดียว

การกำหนดสัมปทานดิวตี้ ฟรี  รูปแบบ Master Concessions  หรือการให้สัมปทานรายเดียว ปัจจุบันทั่วโลกมีน้อยรายและรูปแบบ “กินรวบ”  การทำรูปแบบนี้ สะท้อนประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงานเจ้าของสัมปทาน ที่ต้องจ้างรายเดียวบริหารทั้งหมด

“ผู้บริหารท่าอากาศยาน ที่มีประสบการณ์ในการบริหารมา 20-30 ปี  แต่ยังต้องจ้างผู้ประกอบการบริหารพื้นที่ทั้งหมดเพียงรายเดียว เป็นสิ่งที่ต้องกลับมาคิดหนัก ว่าสามารถบริหารสัมปทานได้มากกว่าหนึ่งรายหรือไม่”

ปัจจุบันการให้สัมปทานดิวตี้ ฟรี สนามบิน จะแบ่งตาม สถานที่ (Location) หรือเทอร์มินอล และตามประเภทสินค้า (Category) เช่น แฟชั่น ยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์  ซึ่งจะทำได้ผู้เชี่ยวชาญ  และเป็นรูปแบบที่เกิดการแข่งขันและสร้างประโยชน์ให้ผู้เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม

dd

เป้าหมายการประมูลสัมปทาน คือต้องทำให้เกิดการแข่งขัน จึงต้องมีความชัดเจนเรื่องเงื่อนไขการประมูล เช่น การสร้างรายได้สูงสุดให้ท่าอากาศยาน  แต่ต้องถามว่าเกิดประโยชน์กับประเทศชาติหรือไม่

ในต่างประเทศผู้ออกแบบเงื่อนไขการประมูลสัมปทาน ดิวตี้ฟรี  ไม่ใช่หน่วยงานที่ได้รับผลประโยชน์จากสัมปทาน  เพื่อไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน จากการประมูล  ส่วนใหญ่ผู้กำหนดการประมูล คือกระทรวงการคลัง และศุลากร  เพราะเป็นผู้กำหนดพื้นที่ปลอดภาษี

ทั้งนี้  มองว่าการกำหนดเงื่อนไขการประมูลสัมปทานดิวตี้ ฟรี ในไทย ควรให้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง  กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  เข้ามาร่วมกำหนดเงื่อนไขการประมูลสัมปทาน  เพราะดิวตี้ ฟรีมีส่วนเชื่อมโยงกับการสร้างรายได้ และกระตุ้นนักท่องเที่ยว

แนวทางส่งเสริมการแข่งขัน  คือ ดิวตี้ ฟรี ในเมือง ไม่จำเป็นต้องมี 1 ราย  ตัวอย่างเกาหลีใต้ มี 6 ราย  ทำให้เป็นประเทศที่ดิวตี้ ฟรี เติบโตสูงสุดในโลก ที่ 20% ต่อปี  ปัญหาดิวตี้ ฟรีไทยขณะนี้ คือไม่มีจุด Pick-up counter ที่สนามบิน เพราะเป็นสัมปทานของคิงเพาเวอร์รายเดียว  ดังนั้นจึงต้องปลดล็อกเรื่องจุดรับส่งของให้ได้ ในหลายประเทศจะมีกฎหมายว่า “ท่าอากาศยาน” ต้องให้บริการ Pick-up counter  ให้ผู้ประกอบการกับดิวตี้ฟรี หลายราย โดยไม่ได้เปิดให้ประมูล แต่ประเทศไทยกลับเปิดประมูลดิวตี้ ฟรี รายเดียว และพ่วง Pick-up counter ไปด้วย

ส่วนการแข่งขันดิวตี้ ฟรีในท่าอากาศยาน สามารถดำเนินการในรูปแบบ โลเคชั่น และประเภทสินค้า เพื่อให้เกิดการแข่งขันหลายราย

ขณะที่ การประมูลต้องมีความโปร่งใส ที่เป็นหัวใจการทำงาน เพราะถ้าไม่โปร่งใสจะมีการคัดค้าน  โดยภาครัฐ สามารถทำงานร่วมกับ ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น  ตั้งแต่การกำหนดทีโออาร์ประมูล  เพื่อตรวจสอบความโปร่งใสในการประมูล

 

 

 

 

 

 

Avatar photo