The Bangkok Insight

‘ป้ามล’ จวก คดีอายัด! คือ ความอยุติธรรม ตั้งคำถาม ไม่ใช่ตำรวจไม่รู้!

คดีอายัด คือ ความอยุติธรรม “ป้ามล” จวกเป็นบทเรียนที่ไม่ถูกต้องในกระบวนการยุติธรรม กรณีตำรวจ สน.ประชาชื่น ขออายัดตัว ไมค์ ระยอง – รุ้ง ปนัสยา – เพนกวิน และ หมอลำแบงค์ ในคดีชุมนุม “19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร” ซึ่งนัดชุมนุมที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และสนามหลวง หลังจากศาลอาญา ยกคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 4 ราย

จากกรณี เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ประชาชื่น ขออายัดตัว นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ “ไมค์ ระยอง” น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ “รุ้ง” นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” และ นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือ “หมอลำแบงค์” ในคดีชุมนุม “19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร” ซึ่งนัดชุมนุมที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และสนามหลวง เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 หลังจากศาลอาญา ยกคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 4 ราย

กรณีของ น.ส.ปนัสยา และ นายพริษฐ์ นับเป็นครั้งที่สอง เพราะก่อนหน้านั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจเคย “อายัด” มาแล้ว หลังจากกลับบ้านเพียงไม่กี่ชั่วโมง

คดีอายัด

ผู้กำกับสน.ประชาชื่น ระบุว่า การอายัดตัวดำเนินการตามหมายจับของสภ.เมืองนนทบุรี-อุบล-อยุธยา โดยสถานีตำรวจต้นทางได้แจ้งอายัดไว้ โดยยังไม่ได้แจ้งยกเลิกหมายมา ขณะทนายยืนยันว่าคดีทั้งหมด ทั้ง 3 คนได้ถูกแจ้งข้อหาไปหมดแล้ว ทำให้ตำรวจ ไม่สามารถอายัดตัวต่อได้ เนื่องจากหมายสิ้นผลไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ต่อมา พ.ต.อ.เอกราช อุ่นเจริญ รอง ผบก.ภ.จว.พระนครศรีอยุธยา ได้ขอนำตัว นายพริษฐ์ นายภาณุพงศ์ และ น.ส.ปนัสยา เข้าทำการสอบสวนที่ชั้น 2 ของ สน.ประชาชื่น โดยอ้างเหตุแห่งคดีที่เคยเกิดขึ้นในท้องที่ สภ.เมือง จ.พระนครศรีอยุธยา

ล่าสุด ทั้ง 3 คน คือ  นายภาณุพงศ์ , น.ส.ปนัสยา และนายพริษฐ์ ถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลพระราม 9 ซึ่งทางพนักงานสอบสวน สภ.อยุธยา จะไปทำบันทึกจับกุมภานุพงศ์ที่โรงพยาบาลพระรามเก้า 9

นายแพทย์สมชัย ลีลาศิริวงศ์ ที่ปรึกษากรรมการผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพระรามเก้า ได้กล่าวในระหว่างการแถลงอาการ 3 คน ว่า ภาพที่ตำรวจเข้าไปในห้องผู้ป่วย ขออนุญาตไม่แถลงรายละเอียด เนื่องจากเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ประสานโรงพยาบาลตามขั้นตอนแล้ว”

แต่จากกรณีดังกล่าว ทิชา ณ นคร หรือ “ป้ามล” ในฐานะผู้อำนวยการ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ได้วิจารณ์อย่างรุนแรง และอธิบายความหมายของคำว่า “อายัด”

ทิชา ณ นคร หรือ “ป้ามล” ในฐานะที่ปรึกษา มูลนิธิเด็กเยาวชน และ ครอบครัว เขียนใน เฟซบุ๊คทิชา ณ นคร ถึง คดีอายัด บอกว่า เยาวชนบ้านกาญจนาฯ หลายคนมีคดีอายัด

อายัด หมายถึง เยาวชนคนนั้นมีคดีที่ถูกแจ้งความตามโรงพักต่างๆ อีกหลายโรงพัก นอกเหนือจากคดีที่ศาลพิพากษาให้ควบคุมตัว

แนวปฏิบัติที่ถูกปฏิบัติต่อๆ กันมาทั้งของตำรวจและของศูนย์ฝึกฯ (กรมพินิจฯ ก.ยุติธรรม) ซึ่งน่าขัดใจมากก็คือ …รอให้คดีที่ถูกควบคุมตัวคดีแรกสิ้นสุดลงก่อน!!! จากนั้น… ตำรวจก็จะเอาหมายคดีอายัดมาเอาตัวเยาวชนไป หรือตามไปจับที่บ้าน ที่ทำงาน ตามความสะดวกของตำรวจ หลังจากเยาวชนได้ปล่อยตัวในคดีแรก!!!

เท่ากับ… ทันทีที่ได้ปล่อยก็ถูกจับทันที หรือถูกจับอีกครั้ง เมื่อชีวิตตั้งแกนชีวิตใหม่ได้มั่น ได้แข็งแรง ได้ดี!!!

“ป้ามล” บอกว่าจากบทเรียนที่ไม่ถูกต้องในกระบวนการยุติธรรม… สิ่งที่บ้านกาญจนาฯ เคร่งครัด กรณีเยาวชนที่มีอายัด คือระหว่างที่เยาวชนอยู่บ้านกาญจนาฯ และยังเหลือโทษอีกนาน หลายเดือน หลายปี ทางบ้านกาญจนาฯ จะทำจดหมายถึงผู้กำกับ ขอให้ตำรวจโรงพักนั้นๆ มาดำเนินการตามขั้นตอน

ห้ามรอ… จนถึงนาทีที่เยาวชนได้ปล่อยตัวแล้วค่อยเข้ารวบตัว!!! ส่วนตำรวจจะเลือกเข้ามาสอบปากคำ… ที่บ้านกาญจนาฯ หรือให้เรานำเยาวชนไปโรงพัก “เลือกมา บ้านกาญจนาฯ จัดให้”

ประเด็นคือ ตำรวจไม่ได้เป็นตำรวจเพราะไปเอาหัวทิ่มกองขี้ควาย แต่… ตำรวจต้องผ่านสถาบันการศึกษา ตำรวจต้องผ่านการเรียนกฎหมายตำรวจต้องผ่านการกล่าวคำปฏิญาณ เพื่อทำหน้าที่อย่างเป็นธรรม และที่สำคัญ… ตำรวจเรียนตำรวจ ตำรวจได้เป็นตำรวจ เพราะเงินภาษีฯลฯ 

ไม่มีทางที่ตำรวจจะไม่รู้ว่า… “อะไรคือสิทธิ เสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญ” “อะไรคืออายัดยุติธรรม และอะไรคืออายัดอยุติธรรม”

“ป้ามล” บอกอีกว่าแม้ว่าลูกหลานป้า เยาวชนบ้านกาญจนาฯ ไม่ใช่นักโทษทางการเมือง ไม่ใช่นักโทษความคิด แต่ …ก็ไม่มีเหตุผลที่เราจะใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมต่อเขา

“ยิ่งนักโทษทางการเมือง นักโทษทางความคิด …การปฏิบัติยิ่งต้องละเอียดอ่อน คิดกันบ้าง !!!” “ป้ามล” กล่าวทิ้งท้าย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo