The Bangkok Insight

เตรียมเอกสารให้พร้อม ผู้ป่วยเข้ามารักษาในไทย มีอะไรบ้าง อ่านที่นี่!!

ผู้ป่วยเข้ามารักษาในไทย ต้องเตรียมเอกสารให้พร้อม กรมควบคุมโรค ยันการผ่อนปรนรับชาวต่างชาติเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทย ไม่ใช่ผู้ป่วยโรคโควิด 19

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การเริ่มอนุญาตให้ ผู้ป่วยเข้ามารักษาในไทย เป็นชาวต่างชาติ ที่มีความจำเป็นต้องเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลโรคต่างๆ ที่ไม่ใช่รักษาโรคโควิด 19 ตามคำสั่ง ศบค. ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563

ผู้ป่วยเข้ามารักษาในไทย

ทั้งนี้ เป็นไปตามประกาศข้อกำหนด ฉบับที่ 12 ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และ คำสั่ง ศบค. ฉบับที่ 6 อนุญาตให้ผู้ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งมีความจำเป็นต้องเข้ามารับการตรวจรักษาพยาบาลในประเทศไทย และผู้ติดตามของบุคคลดังกล่าว แต่ต้องไม่เป็นกรณีที่เข้ามาเพื่อการรักษาพยาบาลโรคโควิด 19

ทั้งนี้ รวมถึงผู้ป่วยเดิม ที่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาล หรือผู้ป่วยใหม่ ที่จำเป็นต้องมารับการรักษาในประเทศไทย ต้องเป็นผู้ป่วยที่มีผลตรวจปลอดโรคโควิด 19 และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคของประเทศไทยอย่างเข้มงวด

สำหรับข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1-5 กรกฎาคม 2563 พบว่า มีผู้เดินทางเข้ามารับบริการ ที่โรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร จำนวน 3 ราย โดยทั้งสามรายเป็นผู้ป่วยเก่าที่เคยมารับการรักษาพยาบาลอยู่แล้ว โดยมาจาก ประเทศเมียนมา มัลดีฟส์ และกาตาร์ ประเทศละ 1 ราย และมีญาติผู้ดูแลติดตามมาด้วยจากประเทศเมียนมา 1 คนและมัลดีฟส์ 1 คน

นอกจากนี้ ทั้งผู้ป่วยและผู้ติดตามต้องผ่านการตรวจ ซึ่งไม่พบเชื้อก่อโรคโควิด 19 ที่ประเทศต้นทาง และมีเอกสารสำคัญครบถ้วนก่อนได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ได้แก่

เอกสารสำหรับ ผู้ป่วยเข้ามารักษาในไทย

  • เอกสารหรือหนังสือรับรอง ของสถานพยาบาลจากประเทศต้นทาง ที่ระบุความจำเป็น ในการเข้ามารักษาพยาบาล
  • เอกสารหรือหนังสือรับรอง ของสถานพยาบาลในประเทศไทยที่ยืนยันการรับผู้เดินทางเข้ามารักษาพยาบาลและการจัดสถานที่กักกันในสถานพยาบาล เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน
  • ใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่า ผู้เดินทางมีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทาง (Fit to Fly Health Certificate) หรือ ตามสภาพการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ทางการแพทย์
  • ใบรับรองแพทย์ ที่ยืนยันว่าตรวจไม่พบเชื้อก่อโรคโควิด 19 ภายในไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนการเดินทาง
  • เอกสารหลักฐาน ซึ่งแสดงถึงหลักประกัน ที่ผู้เดินทางสามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ในการรักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่นใดทั้งหมด ที่เกิดขึ้นระหว่างอยู่ในประเทศ และกรมธรรม์ประกันภัย ที่ครอบคลุมค่าใช้จ่าย ในการดูแลสุขภาพ และ รักษาพยาบาลไม่น้อยกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ
  • หนังสือที่รับรองว่า เป็นบุคคลที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้ (Certificate of Entry – COE)

ทั้งนี้ เมื่อ ชาวต่างชาติ ที่ได้รับอนุญาต เดินทางมาถึงประเทศไทย จะมีการคัดกรองอาการทางเดินหายใจ และวัดไข้ ต้องเดินทางโดยยานพาหนะของสถานพยาบาลเท่านั้น และมีระบบติดตามตัว หรือติดตั้งแอปพลิเคชัน ตามที่ทางราชการกำหนด เพื่อใช้ในการเฝ้าระวัง และติดตามอาการ ในระหว่างที่เข้ารับการกักกัน

ที่สำคัญ คือ จะต้องตรวจหาเชื้อโควิด 19 อีก 3 ครั้ง ได้แก่

  • ครั้งที่ 1 เมื่อเดินทางมาถึงสถานพยาบาล
  • ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 5-7
  • ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 13-14 ของระยะเวลาที่ถูกกักกัน

ในกรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลไม่ถึง 14 วัน ทางสถานพยาบาล จะดำเนินการให้ผู้ป่วยอยู่กักกันจนครบ 14 วัน รวมทั้งญาติและผู้ติดตาม จะถูกกักกันให้อยู่ในโรงพยาบาลเดียวกันกับผู้ป่วย เป็นระยะเวลา 14 วัน หลังจากตรวจไม่พบเชื้อ

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า ขอให้ประชาชนมั่นใจ ในมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 ที่เข้มงวดของประเทศไทย เพื่อป้องกัน และจำกัดการแพร่ระบาดของโรค แม้จะมี ชาวต่างชาติ เดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาล แต่เป็นการบริหารจัดการในโรงพยาบาล ที่ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานแล้ว จึงมั่นใจได้ในเรื่องความปลอดภัย หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo