The Bangkok Insight

ตรึงค่าเอฟทีได้อีก 2 งวดสุดท้ายของปี 63 ลดภาระประชาชน

กกพ.ประเมิน มีโอกาสตรึงค่าเอฟทีอีก 2 งวดสุดท้ายของปี 63 ลดภาระประชาชนจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เหตุมีเงินเหลือหลักพันล้านบาท จากการเรียกคืนเงินลงทุน-รายได้ ของ 3 การไฟฟ้า 

การเปลี่ยนแปลงของโฉมหน้ากิจการไฟฟ้า ทำให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน มีภารกิจหลายเรื่องที่ต้องทำ เพื่อวางหลักเกณฑ์ให้ทันการเปลี่ยนแปลง ในระยะยาว ซึ่งมีหลายโครงการหลักๆ ที่สกพ.กำลังดำเนินการ ประกอบด้วย 1.การปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐาน ให้มีความเป็นธรรม 2. การตามติดการผลิตไฟฟ้าใช้เอง (Prosumer) ที่กำลังเพิ่มขึ้นตามลำดับ ซึ่งต้องวางกฎเกณฑ์รองรับที่เหมาะสม และ 3. ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) ส่วนภาระกิจประจำระยะสั้น การดูแลประชาชนในเรื่องค่าไฟฟ้าผันแปร (FT)โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจซบเซาในปีนี้ก็ต้องดำเนินการคู่กัน

LINE P20200220 175339537 ตัด
คมกฤช ตันตระวาณิชย์

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า สำหรับค่า FT ล่าสุดมีวงเงินจากการเรียกคืนค่าไฟฟ้าจากการลงทุน และเงินเรียกคืนรายได้จากการปรับปรุงฐานะการเงินของ 3 การไฟฟ้า หลักพันล้านบาท สามารถนำมาดูแลค่า FT ได้อีก 2 งวดที่เหลือ คือ งวดเดือน พฤษภาคม-สิงหาคม และ กันยายน-ธันวาคม 2563

จากก่อนหน้านี้ กกพ.ได้มีการตรึงค่า FT ตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 รวม 4 งวด หรือ -11.60 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยคงที่อยู่ที่ 3.64 บาทต่อหน่วย ใช้เงินไปรวม 14,343 ล้านบาท

” การตรึงค่าไฟ แนวโน้ม ความเป็นไปได้ อยู่ที่ราคาเชื้อเพลิง  ถ้าราคาเชื้อเพลิงคงที่ ไม่สูงขึ้น ก็มีโอกาสดูแลค่าไฟได้ถึงสิ้นปี “

Screenshot 20200220 183011 com.google.android.apps.docs 1 1

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องดูราคาเชื้อเพลิง โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ และค่าเงินบาทด้วย รวมถึงปัจจัยภัยแล้งก็มีผล เพราะเขื่อนหลัก ในภาคอีสานอย่างเขื่อนอุบลรัตน์ ต้องใช้เพื่อภารกิจหลัก คือการชลประทาน และไล่น้ำเค็ม ก่อนนำมาผลิตไฟฟ้า  ซึ่งปกติการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนมีต้นทุนต่ำที่สุด มาช่วยเฉลี่ยค่าไฟฟ้าของระบบได้อย่างดี

สำหรับเรื่องการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า หลังศึกษาแล้วเสร็จ จะมีการรับฟังความเห็นก่อนในไตรมาส 3 หรือ 4 ของปีนี้ จากนั้นจะประกาศใช้โครงสร้างใหม่ในปีหน้า

solar energy 481914 640

ในส่วนของ Prosumer ที่เข้ามากขึ้น นอกจากผลิตใช้เองแล้ว ยังต้องการขายเข้าระบบด้วย โดยยังไม่ลงตัวในเรื่องการคิดค่า Wheeling Charge หรือค่าบริการเชื่อมต่อระบบโครงข่าย

“ปัจจุบัน Prosumer มีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะโซลาร์เซลล์บนหลังคา (Solar Rooftop) ที่มีกว่า 300 เมกะวัตต์ และต้องการขายไฟฟ้าเข้าระบบ และจะมีมากขึ้น เราต้องวางหลักเกณฑ์รองรับ “

ทั้งนี้ปัจจุบันกฎเกณฑ์ยังไม่เปิดช่องให้การผลิตไฟฟ้าใช้เอง ขายไฟฟ้าเข้าระบบได้ ยกเว้นโครงการโซลาร์ภาคประชาชนตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน ที่ให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาผลิตไฟฟ้าใช้เอง และขายเข้าระบบได้ด้วย โดยกำหนดรับซื้อในราคา 1.68 บาทต่อหน่วย ปัจจุบันมีผู้เข้าโครงการ 5 เมกะวัตต์ ซึ่งเปิดรับซื้ออยู่ปีละ 100 เมกะวัตต์ และยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย สำหรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าสำหรับรถ EV ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาร่วมกับ 3 การไฟฟ้า เพื่อตามติดพฤติกรรมของผู้บริโภค

” โซลาร์ภาคประชาชนยังเปิดรับอยู่ ก็สมัครเข้าโครงการมาเรื่อยๆ แต่คงไม่มากนัก เพราะเป็นโครงการที่เจาะจงกลุ่มประชาชนตามบ้านเรือน ติดตั้งได้หลังละเฉลี่ย 5 กิโลวัตต์เท่านั้น อย่างไรก็ตามต้องถือว่าโครงการนี้ผู้ขายไฟฟ้าจะคุ้มต่อเมื่อผลิตไฟฟ้าไว้ใช้เอง ประหยัดค่าไฟฟ้า ไม่ต้องซื้อจากระบบ เหลือขายได้อีก ” 

 

Avatar photo