The Bangkok Insight

ต้องการ 7,500 คน ! เร่งสร้างช่างพลังงานไฟฟ้า รับแผน PDP 2018-‘HUB ไฟฟ้า’ อาเซียน

ต้องการอื้อ ! ตลาดโรงไฟฟ้า ต้องการบุคลากร 7,500 คน รับการเติบโตตามแผน PDP 2018  และ “ศูนย์กลางพลังงานไฟฟ้าอาเซียน”  กฟผ.เร่งผลิตคนรองรับ  จับมือ สคช.- มจธ. พัฒนาทักษะบุคลากรมาตรฐานอาเซียน 

แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 (PDP 2018) คาดว่าจะมีความต้องการบุคลากรด้านการผลิตสำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ประมาณ 7,500 คน ไม่นับรวมการประกาศเป็นศูนย์กลางพลังงานไฟฟ้าอาเซียน ที่จะทำให้ทั้งอุตสาหกรรมเติบโตอย่างมาก

49365

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงร่วมกับ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (สคช.) และคณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ดำเนินโครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพพลังงานและพลังงานทดแทน สาขางานระบบผลิตไฟฟ้า ผลิตบุคลากรมาตรฐานรองรับ

ดร.สุทธิชัย จูประเสริฐพร รองผู้ว่าการบริหาร กฟผ. กล่าวว่า อุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า เป็นอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนประเทศ โดย กฟผ. ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบดูแลด้านความมั่นคงของระบบผลิตไฟฟ้า จึงจัดทำมาตรฐานอาชีพร่วมกับ สคช. และ มจธ. เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ผ่านการให้ข้อมูลจากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในงานเดินเครื่อง (Operation) และซ่อมบำรุงรักษาระบบผลิตไฟฟ้า (Maintenance) ของ กฟผ.

49367
สุทธิชัย จูประเสริฐพร

รวมถึงทักษะการประยุกต์ใช้ของผู้ที่จะปฏิบัติงานในโรงไฟฟ้าให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลง ให้สามารถทำงานได้ทันที และยกระดับแรงงานฝีมือรองรับสู่การเป็นศูนย์กลางพลังงานไฟฟ้าของอาเซียนในอนาคต

โดยปัจจุบัน กฟผ. อยู่ระหว่างศึกษากระบวนการ และเตรียมบุคลากร ในการขึ้นทะเบียน เป็นหน่วยรับรองสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ (Certify Body) ที่จะดำเนินการหลังการจัดทำมาตรฐานอาชีพแล้วเสร็จ

 

ด้าน ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ รักษาการผู้อำนวยการ สคช. กล่าวว่า การร่วมมือกับผู้ประกอบการและกลุ่มคนในอาชีพจัดทำมาตรฐานอาชีพ เพื่อพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติในแต่ละด้าน ซึ่งสาขางานระบบผลิตไฟฟ้า เป็นหนึ่งในสาขาเป้าหมายของ สคช.

และตามแผน PDP 2018 ที่คาดว่าจะมีความต้องการบุคลากร ด้านการผลิตสำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ประมาณ 7,500 คน ซึ่งต้องมีทักษะความรู้ ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับภาคการศึกษา โดยเฉพาะอาชีวศึกษา ให้มีทักษะในเชิงเทคนิค พร้อมเข้าสู่การทำงานได้ทันที หลังจบการศึกษา รวมถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย

worker cuts metal 4384343 640

ขณะที่ ผศ.ดร. กู๊สกานา กูบาฮา คณบดีคณะพลังงานฯ มจธ. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มจธ.จะใช้เวลาในการดำเนินโครงการประมาณ 1 ปี เพื่อให้ทันกับความต้องการของภาคแรงงาน โดยผู้มีส่วนได้เสียได้เข้ามาให้ข้อมูลทั้ง กฟผ. ภาคเอกชน และร่วมกันเขียนมาตรฐานอาชีพขึ้นมา เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการในปัจจุบัน แล้วกำหนดเป็นมาตรฐานอาชีพ

โดยจะเริ่มในสาขาอาชีพที่มีบุคลากรเข้ามาเกี่ยวข้องมากที่สุด คือ งานเดินเครื่อง และงานซ่อมบำรุงรักษาระบบผลิตไฟฟ้า สำหรับโรงไฟฟ้าพลังความร้อน และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม เมื่อจัดทำมาตรฐานแล้วเสร็จ จะจัดทำเครื่องมือในการประเมิน เพื่อทดสอบความสามารถของผู้ปฏิบัติงานว่า มีความรู้ความสามารถอยู่ในระดับใด ให้สถานประกอบการหรือภาคการศึกษา ใช้เป็นแนวทางในการการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรในอาชีพต่อไปในอนาคต

Avatar photo