The Bangkok Insight

นโยบายเปลี่ยน ! กฟผ.ยกเหตุสุดวิสัย ไร้ค่าโง่ แจ้ง ‘PETRONAS’ ล้มดีลซื้อ LNG 1.5 ล้านตัน

กฟผ.เตรียมแจ้ง บริษัท PETRONAS  มาเลเซียเป็นทางการ ล้มดีลประมูลซื้อ LNG 1.5 ล้านตัน หลังกพช.มีมติยกเลิกการประมูล ย้ำไม่มีค่าโง่ เป็นเหตุสุดวิสัยจากนโยบายเปลี่ยน 

แอลเอ็นจี 2

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน แจ้งว่า หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วานนี้ (16 ธ.ค.) มีมติยกเลิกการประมูลนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว  ( LNG ) ไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี มูลค่าแสนล้านบาท ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ด้วยเหตุผลหวั่นเกิดภาระ Take or Pay และ อาจส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าสูงขึ้นประมาณ 2 สตางค์ต่อหน่วย โดยเปรียบเทียบราคาจัดซื้อ LNG ตลาดจร (Spot) ที่ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู

โดยขณะนี้กฟผ.อยู่ระหว่างการรอเอกสารมติกพช.เป็นทางการ และนำเข้าคณะกรรมการกฟผ.ในเดือนมกราคม 2563 ก่อนที่จะนำไปแจ้งกับบริษัท PETRONAS LNG Limited มาเลเซีย ซึ่่งเป็นผู้ชนะประมูลล็อตดังกล่าว

ทั้งนี้ บริษัท PETRONAS LNG Limited เป็นหนึ่งในผู้ยื่นเสนอราคา LNG 1.5 ล้านตัน จากผู้ยื่นทั้งสิ้น 12 ราย และชนะไปด้วยราคาเสนอต่ำสุด 7 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียูตลอดอายุสัญญา 8 ปี ซึ่งผู้บริหารกฟผ.ในฐานะผู้เจรจา รวมถึงนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ.ที่ออกมาการันตีว่าเป็นดีลที่ดีที่สุด ช่วยประหยัดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ถึง 30,000 ล้านบาทตลอดอายุสัญญา 8 ปี ทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้ 2.7 สตางค์ต่อหน่วย แต่ก็ต้องล้มเลิกดีลนี้ไป เพราะนโยบายรัฐบาลเกรงว่า จะเกิดภาระ Take or Pay เพราะปริมาณการใช้ก๊าซฯในไทยไม่ได้ขยายตัวตามเป้าหมาย จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

S 91865125

โดยเรื่องนี้ผู้บริหารกฟผ.ยืนยันว่าจะไม่มีการเสียค่าโง่ หรือเบี้ยปรับ เพราะถือเป็นเหตุสุดวิสัย ที่กฟผ.ได้วางเงื่อนไขการเปิดประมูลไว้ตั้งแต่ต้นว่ามีกรณีใดบ้าง รวมถึงกรณีจากการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายด้วย

ทั้งนี้การจัดซื้อ LNG ตามสัญญาระยะ 8 ปี จำนวนไม่เกิน 1.5 ล้านตัน ถือว่ามีการเปลี่ยนนโยบายไปมาหลายรอบ จากเดิมให้กฟผ.ประเดิมนำเข้าLNG  แบบ spot เพื่อทดสอบระบบการเปิดเสรีกิจการก๊าซธรรมชาติ แต่ต่อมามติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 ในยุคดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้ปรับการจัดซื้อแบบ spot เป็นสัญญาระยะยาว เพราะราคาถูกกว่า

กระทั่งได้รับความเห็นชอบให้มีการเปิดประมูล โดยกฟผ.ดำเนินการเปิดประมูล แบบ International Bidding โดยมี บริษัท PETRONAS LNG Limited เสนอราคาต่ำที่สุดจากผู้เสนอราคาทั้งสิ้น 12 ราย และได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการกฟผ.ให้จัดซื้อจาก PETRONAS LNG Limited เมื่อ 14 พฤษภาคม 2562  ก่อนที่จะให้มีการเจรจายกเลิกในเวลาต่อมา โดยมติกบง.ยุคของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562

และนับจากมติดังกล่าว เป็นต้นมาจนถึงธันวาคม 2562 กฟผ.ใช้เวลา 5 เดือน ในการเจรจากับ PETRONAS LNG Limited เพื่อรักษาดีลนี้ ขณะที่ PETRONAS ก็ผ่อนปรนสัญญาหลายเรื่อง เพื่อการันตีไม่ให้เกิดภาระ Take or Pay โดยปรับการนำเข้าจากปลายปี 2562 เป็นปี 2563 เป็นต้นไป และลดปริมาณการนำเข้าจาก 1.2 ล้านตัน เหลือ 1 ล้านตันต่อปี พร้อมคงราคา 7 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียูตลอดอายุสัญญา

ในการเจรจาที่ผ่านมา PETRONAS ยอมปรับสัญญาทุกประการ แต่เราก็ต้องยกเลิกไป  โดยย้ำว่าการยกเลิกดีลนี้ ไม่มีข้อแลกเปลี่ยนใดๆ เมื่อเกิดเหตุสุดวิสัยจากนโยบายเปลี่ยน ก็ต้องแจ้งเขาไป ยืนยันว่าไม่มีค่าปรับแน่นอน เพราะเงื่อนไขเหตุสุดวิสัยได้เขียนไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่ามีกรณีใดบ้าง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบาย  ส่วนข่าวลือว่าการล้มดีลครั้งนี้ ต้องแลกกับการรับซื้อไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าเอกชนที่จะพัฒนาใหม่ ที่มาเลเซียนั้น มีข้อเสนอมาจริง แต่เป็นคนละเรื่องกัน เพราะปกติแล้ว หากจะมีโรงไฟฟ้าใหม่เกิดขึ้นรอบบ้านเรา ไทยจะเป็นเป้าหมายการรับซื้อเสมอ แต่เนื่องจากตอนนี้เรามีสำรองสูง จึงไม่มีนโยบายรับซื้อเพิ่ม โดยเมื่อเดือนก่อนกระทรวงพลังงาน ได้แจ้งเป็นทางการไปยังผู้พัฒนาโครงการแล้วว่าเราไม่มีนโยบายรับซื้อแต่อย่างใด ” ผู้บริหารกระทรวงพลังงาน ยืนยัน 

ดังนั้นหลังจากนี้ การทดสอบเปิดเสรีกิจการก๊าซธรรมชาติระยะที่ 1 ของไทย จะเป็นการให้ กฟผ. เป็น Shipper รายใหม่ นำเข้า LNG ใช้ในโรงไฟฟ้าของกฟผ. ล็อตแรก นำเข้าแบบ Spot  จำนวน 2 ลำเรือ ลำละ 65,000 ตัน นำเข้าเดือนธันวาคม 2562 และเดือนเมษายน 2563 เพื่อใช้กับโรงไฟฟ้าวังน้อยชุดที่ 4 โรงไฟฟ้าบางปะกง ชุดที่ 5 และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ทดแทนระยะที่ 1 โดยเรือ LNG ลำแรกจะมาถึงในวันที่ 28 ธันวาคมนี้ โดยกฟผ.ไม่สามารถเป็นผู้นำเข้าเพื่อขาย LNG แข่งเอกชนได้ เพราะติดพ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  ยกเว้นนำเข้ามาแล้วเกินความต้องการ จึงจะขายออกไปได้

Avatar photo