Finance

เปิดละเอียด! ‘หนี้สาธารณะไทย’ พุ่งสูงไปแค่ไหนแล้ว

เปิดรายละเอียด “หนี้สาธารณะไทย” ล่าสุด พุ่งสูงกว่า 64% ของจีดีพี  เฉียด 12 ล้านล้านบาท ข้อมูล สบน. ชี้ “หนี้รัฐบาล” มากสุด กว่า 10 ล้านล้านบาท 

รู้จักหนี้สาธารณะ

“หนี้สาธารณะ” หมายถึง การกู้ยืมเงินของรัฐบาลเมื่อรัฐบาลมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย จึงจําเป็นต้องกู้เงินมาใช้จ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลของประเทศกําลังพัฒนา ที่อาจมีความจําเป็นต้องใช้จ่ายเงิน เพื่อพัฒนาประเทศลงทุนสร้างถนนหนทางไฟฟ้า ประปา และพลังงานต่าง ๆ

หนี้สาธารณะไทย

หนี้สาธารณะนี้ อาจมองได้ทั้ง 2 ด้าน คือ เมื่อรัฐบาลยืมเงินเข้ามาก็จัดเป็นรายรับของรัฐบาลทางหนึ่ง และเมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระรัฐบาลก็ต้องตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายเพื่อชําระหนี้ การก่อหนี้สาธารณะของรัฐบาลจึงมีผลต่อเศรษฐกิจส่วนรวมของประเทศ

หนี้สาธารณะไทยพุ่งสูง

ข้อมูลจาก สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง แสดงให้เห็นว่า นับถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2567 ไทยมีหนี้สาธารณะของไทยอยู่ทั้งสิ้น 11,728,149.06 ล้านบาท หรือคิดเป็น 64.02% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

  • หนี้รัฐบาล 10,365,460.59 ล้านบาท
  • หนี้รัฐวิสาหกิจ 1,060,739.48 ล้านบาท
  • หนี้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงิน* (รัฐบาลค้ำประกัน) 189,254.89 ล้านบาท
    * รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงิน หมายถึง รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจให้กู้ยืมเงิน ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ และธุรกิจประกันสินเชื่อ
  • หนี้หน่วยงานรัฐ 112,694.10 ล้านบาท

ขณะที่ หนี้สาธารณะคงค้าง ประกอบด้วย หนี้ในประเทศคิดเป็นสัดส่วน 98.93% ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด และหนี้ต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วน 1.07%

ถ้าหากแบ่งตามอายุคงเหลือ พบว่า เป็นหนี้ระยะยาว 85.17% และหนี้ระยะสั้น 14.83% ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด โดยมีหนี้รัฐบาล จำนวน 10,365,460.59 ล้านบาท หรือ 83.40% ของหนี้สาธารณะทั้งหมด เพิ่มขึ้นสุทธิ 96,491.17 ล้านบาท จากเดือนก่อนหน้า แบ่งเป็น

  • เงินกู้ล่วงหน้าเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ล่วงหน้า เพิ่มขึ้น 70,000 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงเกิดจากการกู้ล่วงหน้า เพื่อปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณทั้งจำนวน
  • เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ เพิ่มขึ้น 39,000 ล้านบาท จากเดือนก่อนหน้า โดย สบน. ได้กู ้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณแล้วจำนวน 488,170 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 70.44% ของวงเงินการกู ้
  • เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ปี 2567 ปรับปรุงครั้งที่ 2 จำนวน 693,000 ล้านบาท ซึ่งการกู้เงินเป็นไปตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้กระทรวงการคลังกู้เงินให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของเงินคงคลัง

อย่างไรก็ดี หากรัฐบาลต้องการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ เห็นควรเร่งรัดการลงทุน และการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับประเทศภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน

ขณะที่ เงินกู้ในประเทศเพื่อให้รัฐวิสาหกิจกู้ต่อในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ เพิ่มขึ้นสุทธิ 3,956.18 ล้านบาท ประกอบด้วย การเบิกจ่ายเงินกู้ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการรถไฟทางคู่ โครงการก่อสร้างทางรถไฟ จำนวน 2,323.48 ล้านบาท

และการเบิกจ่ายเงินกู้ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง และสายสีส้ม จำนวน 1,632.70 ล้านบาท

หนี้สาธารณะไทย

หนี้ต่างประเทศ

ลดลงสุทธิ 9,223.01 ล้านบาท จากเดือนก่อนหน้า โดยมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจากการชำระคืนหนี้เงินกู้สกุลเงินดอลลาร์ และสกุลเงินเยน สำหรับโครงการลงทุนของรัฐบาล จำนวน 9,585.25 ล้านบาท ขณะที่มีการเพิ่มขึ้นของ หนี้จากผลของอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินดอลลาร์ เป็นส่วนใหญ่จำนวน 362.24 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมี หนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ลดลงจำนวน 7,242 ล้านบาทจากเดือนก่อนหน้า จากการชำระคืนหนี้เงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน และจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 (FIDF 1) จำนวน 6,500 ล้านบาท

และหนี้เงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน และจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่สอง พ.ศ. 2545 (FIDF 3) จำนวน 742 ล้านบาท

หนี้รัฐวิสาหกิจ

จำนวน 1,060,739.48 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 9.05% ของหนี้สาธารณะทั้งหมด ลดลงสุทธิ 10,250.55 ล้านบาท จากเดือนก่อนหน้า โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจาก

หนี้ที่รัฐบาลค้ำประกัน เพิ่มขึ้นสุทธิจำนวน 1,386.52 ล้านบาท จากเดือนก่อนหน้า โดยการเปลี่ยนแปลงเกิดจากการเบิกจ่ายเงินกู้ของ รฟท. จำนวน 1,926.12 ล้านบาท องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพจำนวน 517.90 ล้านบาท และการเคหะแห่งชาติ จำนวน 50 ล้านบาท

ขณะที่มีการชำระคืนหนี้ของการประปาส่วนภูมิภาค จำนวน 1,100 ล้านบาท และองค์การส่งเสริมกิจการโคนม จำนวน 5.97 ล้านบาท รวมถึงการลดลงของหนี้จากผลของอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินยูโรเป็นส่วนใหญ่ จำนวน 1.53 ล้านบาท

หนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน ลดลงสุทธิ จำนวน 11,637.07 ล้านบาท จากเดือนก่อนหน้า โดยการเปลี่ยนแปลงเกิดจากการชำระคืนหนี้ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จำนวน 15,000 ล้านบาท การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำนวน 2,000 ล้านบาท บริษัท ผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จำกัด จำนวน 32.64 ล้านบาท

การเคหะแห่งชาติ จำนวน 31.96 ล้านบาท บริษัท กรุงไทย คอมพิวเตอร์ เซอร์วิสเซส จำกัด จำนวน 16.17 ล้านบาท บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จำนวน 5.16 ล้านบาท บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จำนวน 3.95 ล้านบาท รวมถึง การลดลงของหนี้จากผลของอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินดอลลาร์จำนวน 524.63 ล้านบาท

ขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินกู้ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำนวน 4,000 ล้านบาท การประปาส่วนภูมิภาค จำนวน 1,200 ล้านบาท บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด จำนวน 774.37 ล้านบาท และบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด จำนวน 3.07 ล้านบาท

หนี้สาธารณะไทย

หนี้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) จำนวน 189,254.89 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 1.61% ของหนี้สาธารณะทั้งหมด ลดลง 1.34 ล้านบาท จากเดือนก่อนหน้า โดยการเปลี่ยนแปลงเกิดจากการลดลงของหนี้จากผลของอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินยูโรทั้งจำนวน

หนี้หน่วยงานของรัฐ จำนวน 112,694.10 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.96% ของหนี้สาธารณะทั้งหมด เพิ่มขึ้น 23.13 ล้านบาท จากเดือนก่อนหน้า โดยการเปลี่ยนแปลงเกิดจากการเบิกจ่ายเงินกู้ของสำนักงานธนานุเคราะห์จำนวน 39 ล้านบาท

ขณะที่มีการชำระคืนหนี้เงินกู้ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการ และสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 11.11 ล้านบาท และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต จำนวน 4.76 ล้านบาท

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo