Digital Economy

ผลวิจัยล่าสุด ชี้ ‘การทำงานยุค AI’ เปลี่ยนบทบาทคนทำงาน

“ไมโครซอฟท์” เผยผลวิจัยล่าสุด พบการทำงานยุค AI เปลี่ยนบทบาทการทำงาน ส่งผลคนทำงานมีเวลาสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่มากขึ้น

หลังจากที่ได้เปิดตัวบริการ Microsoft 365 Copilot ไปเมื่อต้นปีนี้ เพื่อนำความสามารถของ AI อันทรงพลังมาเสริมศักยภาพของแอปพลิเคชัน ที่มีผู้ใช้หลายล้านคนในทุกวันอย่าง Microsoft Word, Excel, PowerPoint, Outlook, Microsoft Teams และอื่น ๆ

การทำงานยุค AI

ล่าสุด ไมโครซอฟท์ สรุปข้อมูลเชิงลึกจากรายงาน Work Trend Index ฉบับปี 2566 ที่เจาะลึกถึงมุมมองเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในชีวิตการทำงานยุค AI ภายใต้หัวข้อ “Will AI Fix Work?”

รายงาน Work Trend Index 2023 เป็นการรวบรวมข้อมูลจากการสำรวจพนักงาน และผู้บริหารกว่า 3.1 หมื่นคนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ครอบคลุม 31 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยและตลาดอื่นๆ อีก 13 แห่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ข้อมูลที่ได้บ่งชี้ว่า การทำงานในปัจจุบัน ต้องการความรวดเร็วในระดับที่เกินกว่าพนักงานจะตามทัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถของพวกเขา ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้กับองค์กร

ดังนั้น เทคโนโลยี AI รุ่นใหม่ ๆ จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ได้ และองค์กรที่ริเริ่มนำ AI มาใช้จะช่วยให้พนักงานหลุดออกจากวงจรการทำงานแบบเดิมๆ มีเวลาไปใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น และทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นไปพร้อมกัน

สุภาณี อนุวงศ์วรเวทย์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานการตลาดและปฏิบัติการ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าวว่า การมาถึงของ AI ส่งผลให้วิธีการทำงานต้องเปลี่ยนไปในทุกด้าน จากเดิมที่มีระบบอัตโนมัติทั่วไปในการทำงาน มาเป็นระบบผู้ช่วยที่ทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างชาญฉลาด

Supanee Anuwongworavet
สุภาณี อนุวงศ์วรเวทย์

นอกจากนี้ ยังทำให้พนักงานหลุดพ้นจากสิ่งที่เรียกว่า Digital Debt หรือภาระงานที่เกิดขึ้นจากการโต้ตอบกันทางอีเมล แชท และประชุม จนไม่สามารถไปคิดค้นนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาได้

เมื่อการทำงานเปลี่ยนไปเพราะ AI คนทำงานก็ต้องพัฒนาตนเองให้เท่าทันเช่นกัน โดยพนักงานส่วนใหญ่ในประเทศไทยมองว่า AI เป็นสิ่งที่ดีสำหรับพวกเขา

ทั้งนี้เห็นได้จากรายงาน Work Trend Index 2023 ระบุว่า พนักงานไทยถึง 86% ยินดีที่จะมอบหมายให้ AI ทำงานแทนให้ได้มากที่สุด เพื่อลดภาระงานลง

ดังนั้น ผู้บริหารในยุคนี้จึงมีทั้งโอกาสและแรงผลักดันให้ต้องเร่งทำความเข้าใจวิธีใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อลดความจำเจในการทำงาน ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และยกระดับความเชี่ยวชาญด้าน AI ไปพร้อมๆ กัน

ข้อสรุปสำคัญ 3 ประการเพื่อนำ AI มาใช้ในองค์กร 

“Digital Debt” ยับยั้งการสร้างนวัตกรรมใหม่

พนักงานทุกคนล้วนมีภาระในโลกดิจิทัลของที่ทำงาน เพราะมีข้อมูล อีเมล และแชทปริมาณมหาศาลตลอดวันจนไม่สามารถรับรู้หรือเข้าใจได้ในทุกส่วน

ดังนั้น เราจึงเล็งเห็นโอกาสในการทำให้การสื่อสารมีประสิทธิผลมากขึ้น เพราะยิ่งเสียเวลาไปกับภาระ digital debt เหล่านี้มากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้พนักงานไม่มีเวลาใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นเท่านั้น

พนักงานในประเทศไทย 89% รู้สึกว่าพวกเขาไม่มีเวลา และพลังงานมากพอ ที่จะทำงานให้เสร็จ และคนกลุ่มนี้ก็มีโอกาสสูงที่จะเจอกับอุปสรรค เมื่อต้องลงมือสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยตัวเอง

ขณะที่ข้อมูลเวลาทำงานใน Microsoft 365 ชี้ว่าโดยเฉลี่ย พนักงานใช้เวลาทำงาน 57% ไปกับการติดต่อประสานงาน และเพียง 43% ในการสร้างสรรค์ชิ้นงานขึ้นมา ส่วนอุปสรรคอันดับหนึ่งที่ขัดขวางประสิทธิผลในการทำงานก็คือ การประชุมที่ไร้ประสิทธิภาพ

MSFT WTI annual hero

AI พร้อมเป็นพันธมิตรคู่ใจคนทำงาน

พนักงานส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับบทบาทของ AI ในการแบ่งเบาภาระงาน มากกว่าที่จะกังวลว่าตนเองจะถูกแทนที่จนตกงาน

ส่วนผู้บริหารส่วนใหญ่ ก็มีความตั้งใจที่จะนำ AI มาสนับสนุนพนักงานให้ทำงานได้ดีขึ้น แทนที่จะนำมาทำงานแทนมนุษย์

สำหรับในประเทศไทย เราพบว่า 66% ของพนักงานที่เข้าร่วมการสำรวจยังมีความกังวลว่าจะถูก AI แย่งงาน แต่ก็มีถึง 86% ที่พร้อมจะแบ่งงานให้ AI ช่วยให้ได้มากที่สุดเพื่อแบ่งเบาภาระงาน

นอกจากนี้ พนักงานไทยราว 9 ใน 10 คนมั่นใจว่า พร้อมแบ่งงานที่ซับซ้อน เช่นการวิเคราะห์ข้อมูลหรือสร้างสรรค์ชิ้นงานใหม่ ๆ ให้ AI เข้ามาช่วยทำ โดยไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่งานเอกสารหรือธุรการทั่วไป

ขณะที่ในระดับผู้บริหาร พบว่ามีกลุ่มที่สนใจนำ AI มาใช้เสริมประสิทธิภาพในที่ทำงานเป็นจำนวนที่สูงกว่ากลุ่มที่มุ่งลดจำนวนพนักงานด้วย AI ราวหนึ่งในสาม

พนักงานทุกคนต้องเชี่ยวชาญ AI

พนักงานทุกคนจะต้องเรียนรู้ความสามารถในด้านใหม่ ๆ เช่น การวางโครงสร้างและเขียนคำสั่งสำหรับ AI (prompt engineering) แทนที่จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้าน AI เท่านั้น

ผู้บริหารในไทยกว่า 90% คาดว่า พนักงานจะต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ในการทำงานยุค AI ขณะที่พนักงานไทย 86% ระบุว่าพวกเขา ยังขาดความสามารถที่เหมาะสมในการทำงานให้สำเร็จ

ทั้งนี้ จึงคาดการณ์ได้ว่าทักษะใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเชี่ยวชาญด้าน AI จะเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดแรงงาน พร้อมส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง นับตั้งแต่แนวทางการเขียนเรซูเม่ไปจนถึงประกาศรับสมัครงาน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo