The Bangkok Insight

‘ยูเนสโก’ รับรอง ‘โคราชจีโอพาร์ค’ เป็น UNESCO Global Geopark แห่งที่ 4 ของโลก

ชาวโคราชได้เฮ ยูเนสโกรับรอง “โคราชจีโอพาร์ค” เป็น “UNESCO Global Geopark” แห่งที่ 4 ของโลก

ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน และทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ในฐานะผู้อำนวยการ อุทยานธรณีโคราช เปิดเผยว่า เมื่อปี 2565 องค์การยูเนสโก ได้มอบหมายให้ Dr.Marie Luise Frey ผู้ประเมินอาวุโสจากสหพันธรัฐเยอรมนี พร้อม Ms.Sarah Gamble ผู้ประเมินจากประเทศแคนาดาและคณะทำงานลงพื้นที่ตรวจประเมินภาคสนามจำนวน 17 แหล่งสำคัญ

เขาอีโต้

ทั้งนี้ ประกอบด้วย อำเภอเมือง อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน อำเภอขามทะเลสอ และ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ของ จังหวัดนครราชสีมา เพื่อรวบรวมข้อมูลและเก็บหลักฐานประกอบการรับรองอุทยานธรณีโคราชให้เป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก

ล่าสุดผลการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก ครั้งที่ 216 (216th session of the Executive Board) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10–24 พฤษภาคม ที่องค์การยูเนสโก สำนักงานใหญ่ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้มีมติรับรองให้โคราชจีโอพาร์ค เป็น อุทยานธรณีโลก (UNESCO Global Geopark)

ยูเนสโก

สำหรับหัวใจสำคัญของจีโอพาร์ค (Geopark) หรืออุทยานธรณีคือ พื้นที่ทางภูมิศาสตร์แห่งหนึ่งที่ภูมิประเทศ และแหล่งธรณีวิทยา มีคุณค่าในระดับนานาชาติ รวมทั้งแหล่งธรรมชาติอื่น ๆ และวัฒนธรรมสำคัญ และสัมพันธ์กับแหล่งธรณีวิทยา รวมทั้งมีการบริหารจัดการแบบองค์รวมทั้งในด้านการอนุรักษ์การศึกษา และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ โดยมีชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการจากล่างสู่บน (Bottom-up) เชื่อมโยงเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ทำให้ จังหวัดนครราชสีมา เป็น ดินแดนแห่ง 3 มงกุฎของยูเนสโก The UNESCO Triple Heritage City รวม 3 แห่ง ประกอบด้วย

โคราช1

1. มรดกโลกป่าดงพญาเย็น เขาใหญ่

2. พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช

3. โคราชจีโอพาร์ค

โคราชจีโอพาร์ค ได้แก่ พื้นที่ลุ่มน้ำลำตะคอง พื้นที่ 5 อำเภอ มีภูมิประเทศเขาเควสตา (เขารูปอีโต้) และฟอสซิล 3 ยุค โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ (Cuesta & Fossil Land) เชื่อมโยงกับระบบนิเวศป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้งและวิถีชีวิตผู้คนกว่า 4,000 ปี

โคราช

นอกจากนี้ พื้นที่ภูมิศาสตร์บริเวณลุ่มน้ำลำตะคองตอนกลางถึงตอนล่าง ยังมีความแตกต่างจากจีโอพาร์คโลกที่มีอยู่ 147 แห่งทั่วโลก โดยมีอัตลักษณ์ 8 ประการ คือ ดินแดนแห่ง 1 เขา 1 หิน 1 ป่า 1 ลำ 10วัฒนธรรม กับ 3 ซาก หมายถึงเขาเควสตา/เขาอีโต้ หินทราย ป่า เต็งรัง ลำตะคอง วัฒนธรรมไทโคราช ซากไม้กลายเป็นหิน ซากช้างดึกดำบรรพ์และซากไดโนเสาร์

จังหวัดนครราชสีมา ถือเป็นเมืองที่ 4 ของโลก ต่อจาก ประเทศอิตาลี เกาหลีใต้ และจีน ที่มีดินแดนแห่ง 3 มงกุฎของยูเนสโก  ในจังหวัดเดียวกัน โดยเป็นจังหวัดที่สองของเอเชียและแห่งแรกของประเทศไทย

ลำตะคอง

ขณะที่ ยูเนสโก ต้องการให้เกิดการอนุรักษ์บรรพชีวิตและธรณีวิทยา โดยมีชุมชนมีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาดูแลและพัฒนาก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวในเชิงธรณีวิทยาและเชิงวัฒนธรรม ผสมผสานการนำ Soft Power กับธรณีวิทยาและจ้างงาน มีอาชีพและรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้จากการท่องเที่ยวสู่ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo