The Bangkok Insight

‘เอพี เวิลด์’ มองโลกเปลี่ยน ‘ปริญญาอาจไม่ใช่คำตอบ’

Disruption การขัดขวาง หรือ Disruptive การแตกแยกแตกต่าง สองคำนี้เราได้ยินถี่ขึ้นในโลกธุรกิจ ไม่ว่าจะแขนงใดทุกคนต่างตื่นตัวกับ การเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเป็นตัว Disruption ธุรกิจให้ต้องปรับตัวรับมือความเร็วและแรงของเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเปลี่ยนโลก ไปสู่รูปแบบที่หลายคนยังคาดไม่ถึง หลายคนมองภาพอนาคตของธุรกิจตัวเองไม่ชัดเจนนัก

อนุพงษ์ อัศวโภคิน1
นายอนุพงษ์ อัศวโภคิน

เช่นเดียวกับ อนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอพี (ไทยแลนด์) ที่ตอบว่ายังไม่เห็นภาพความชัดเจนของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทัพย์ จะเปลี่ยนไปอย่างไรเมื่อเทคโนโลยีเข้ามาเร็วแบบทุกวันนี้

“ผมนึกไม่ออกเหมือนกันว่าอสังหาฯจะเปลี่ยนอย่างไร  เพราะธุรกิจอสังหาฯไม่เหมือนธุรกิจอื่น ไม่เหมือนธุรกิจการเงิน หรือธุรกิจบริการ แต่เป็นธุรกิจที่ต้องพัฒนาสินค้าที่เป็นรูปธรรมออกมาขาย สร้างที่อยู่อาศัยเป็นสินค้าที่จับต้องได้ นึกไม่ออกว่าเทคโนโลยีจะ Disrupt แล้วเกิดอะไรขึ้นบ้าง” อนุพงษ์ ย้ำ

อย่างไรก็ตาม แม้จะบอกว่ามองภาพไม่ชัด แต่เอพีฯก็ตื่นตัวในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก ซีอีโอเอพีฯ พยายามหาข้อมูลติดตามความเปลี่ยนแปลง และเดินทางไปอบรมเรื่องเทคโนโลยีใหม่ และการเปลี่ยนแปลงของโลกจากกระแสเทคโนโลยี ที่สถาบันชื่อดังในต่างประเทศ ได้รับรู้แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงในภาพรวม ซึ่งทำให้เห็นว่าองค์ประกอบต่างๆ ในโลกธุรกิจกำลังจะเปลี่ยนไปอย่างมาก

“หลังไปอบรมมาแล้วยอมรับว่ากลัวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น เพราะไม่รู้ว่าอะไรจะเปลี่ยนบ้าง และความเร็วของการเปลี่ยนแปลงนั้นจะมาถึงเมื่อใด” ซีอีโอ เอพี กล่าวยอมรับและว่า หลังจากได้เห็นภาพโดยคร่าวๆ ของแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยี ทำให้เขานำมาประมวลความน่าจะเป็น และวางแผนปรับตัวธุรกิจให้สามารถรองรับโอกาสความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

โดยสิ่งที่ซีอีโอเอพี คิดและวางแผนร่วมกับทีมบริหาร ได้กลั่นกรองออกมาเป็นแนวคิด ‘AP World, A New Vision of Quality of Life’ ซึ่งเป็นการสร้างพิมพ์เขียวแห่งคุณภาพชีวิตที่ดีในวันข้างหน้า สำหรับนิยามการพัฒนาอสังหาฯของเอพีฯ

พร้อมกันนี้ก็ได้เปิดตัว 3 ธุรกิจใหม่ ที่นอกเหนือจากธุรกิจอสังหาฯ แต่จะเป็นธุรกิจที่เข้ามาเติบเต็มงานบริการอสังหาฯของเอพีฯ ให้มีความพร้อมมีจุดแข็งและจุดขายที่ตอบโจทย์เรื่อง คุณภาพที่อยู่อาศัยภายในการพัฒนาของเอพีฯ ให้มีความแตกต่างและมีจุดแข็งที่ชัดเจน

3 ธุรกิจใหม่ของเอพีฯ ประกอบด้วย ธุรกิจการสร้างระบบนิเวศที่สนับสนุนการบริหารจัดการคุณภาพชีวิต, ธุรกิจพัฒนานวัตกรรมการออกแบบ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค, และธุรกิจพัฒนาบุคคลากร สร้างการเรียนรู้ เพิ่มทักษะคนให้มีศักยภาพเท่าทันความเปลี่ยนแปลง และความต้องการของโลกยุคใหม่ โดยได้ก่อตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา 3 บริษัทรับผิดชอบแต่ละเป้าหมาย ดังนี้

บริษัท วาริ จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจสร้างระบบนิเวศ ที่สนับสนุนการบริหารจัดการคุณภาพชีวิต (LIFE MANAGEMENT ECOSYSTEM) ซึ่งจะจุดประกายคุณภาพชีวิตในวันข้างหน้า ให้มีประสิทธิภาพ สร้างสรรค์สังคมแห่งการอยู่อาศัยในอุดมคติให้เกิดขึ้น ลดทอนความซ้ำซ้อนที่เป็น Pain Point ของผู้อยู่อาศัยในวันนี้ และมอบประสบการณ์ใหม่ ที่ยกระดับรูปแบบการดำเนินชีวิตให้ดียิ่งขึ้น ผ่านนวัตกรรมการออกแบบ ที่เข้าถึงทุกไลฟ์สไตล์ของคนในสังคม

บริษัท เคลย์มอร์ จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจการพัฒนานวัตกรรมดีไซน์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการ ที่ยังไม่ถูกค้นพบของคนในสังคม ผ่านการสร้างทีมนวัตกรรม ที่มีจิตวิญญาณในการเป็นผู้ประกอบการขึ้นภายในองค์กร โดยทีมงานนี้จะมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการเป็น “Innovation Lab” สร้างนวัตกรรมโดยใช้กระบวนการ Stanford Design Thinking ต่อยอดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เดิมไปสู่ธุรกิจใหม่ โดยมีเป้าหมายให้นวัตกรรมที่คิดค้น จับต้องได้ และใช้งานได้จริง

SEAC (เอสอีเอซี) เพื่อเป็นศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน ดำเนินธุรกิจในการดิสรัปวิธีการเรียนรู้ของคนในองค์กร และคนในสังคมด้วยกระบวนการใหม่ๆ มุ่งพัฒนาความพร้อม ความสามารถของคน ให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในวันนี้และอนาคต โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันระดับโลก อาทิ Stanford University ที่มีมุมมองในเรื่องการเรียนรู้ตรงกัน เพื่อช่วยยกระดับขีดความสามารถและกระบวนการคิด ของผู้นำในเมืองไทยและระดับภูมิภาคให้มีศักยภาพ ทัดเทียมผู้นำระดับโลก เพราะเทรนด์ของโลกเปลี่ยนไป

“คนยุคใหม่ อาจไม่ได้มองเรื่องการศึกษาเหมือนในอดีต แต่เขามองหาโอกาสที่จะเติบโตควบคู่ไปกับเทคโนโลยี ดังนั้นการเรียนรู้จึงต้องเปลี่ยนไป เราจะสร้างสถานบันการเรียนรู้ที่เป็นการ Re Skill เพิ่มทักษะคนให้รู้เท่าทันเทคโนโลยี” อนุพงษ์ ย้ำและว่า ในส่วนของ เอสอีเอซี จะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปีนี้

ที่อเมริกาเด็กรุ่นใหม่ไม่แคร์ปริญญาตรี และมีผลสำรวจว่าหลักสูตร MBA ปิดตัวไปจำนวนมาก เพราะคนไม่ได้ยึดติดเหมือนก่อน

ยกตัวอย่างอาชีพที่ต้องการในตลาดขณะนี้ ดาต้า ไซน์ หรือนักวิเคราะห์ข้อมูลดาต้าต่างๆ เป็นที่ต้องการมากในตลาด แต่สถาบันการศึกษายังไม่ผลิตคนออกมาตรงความต้องการ จำเป็นต้องเรียนรู้เพิ่ม เป็นอีกตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงในโลกการทำงาน และโลกธุรกิจที่เปลี่ยนไป ซึ่งเราต้องตามให้ทัน

“การรุกขึ้นมาปรับวิสัยทัศน์ในครั้งนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปรับเปลี่ยนโฉมหน้าของเอพี ไทยแลนด์ ไปสู่การเป็นบริษัทที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคม แทนที่จะเป็นเพียงผู้ส่งมอบที่อยู่อาศัยเพียงเท่านั้น” อนุพงษ์ กล่าวและว่า สุดท้ายแล้วนวัตกรรมหรือระบบนิเวศต่างๆ ที่ถูกพัฒนาจะเปิดกว้างให้บริการกับทุกคนไ ม่จำกัดว่าจะต้องเป็นลูกค้าเอพี ซึ่งดอกผลที่เกิดขึ้นจากการขยายภาคธุรกิจ ภายใต้วิสัยทัศน์ AP World นี้ จะมีส่วนช่วยผลักดันรายได้รวมของเอพี ไทยแลนด์ให้เติบโตแบบดับเบิ้ล หรือตั้งเป้าสร้างรายได้รวมแตะหลัก 60,000 ล้านบาทภายในปี 2565

Avatar photo