Stock

‘BEM’ ทิศทางกำไรสดใส ผู้โดยสารรถไฟฟ้าโตชัด เร็ว แรง

“BEM” ทิศทางกำไรสดใส ผู้โดยสารรถไฟฟ้าโตชัด เร็ว แรง บล.เอเซีย พลัส ประเมินผลประกอบการไตรมาส 3/2565  จะมีรายได้เพิ่มขึ้น 69% 

ด้วยสถานการณ์ที่ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติมากๆ แล้วในตอนนี้ จากการที่สำนักงานต่างๆ ผ่อนคลายและยกเลิกนโยบาย Work From Home การกลับมาเปิดของสถานศึกษาทั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัย รวมถึงการท่องเที่ยวที่คึกคักอย่างเห็นได้ชัด

หุ้นที่ได้รับประโยชน์จากกรณีนี้ก็คือ BEM หรือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการทางพิเศษครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้แก่ ทางด่วนเฉลิมมหานครมหานคร ทางด่วนศรีรัชถนนวงแหวนรอบนอกศรีรัช และทางด่วนอุดรรัถยา ตลอดจนให้บริการระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การปล่อยพื้นที่การพาณิชย์ การให้เช่าพื้นโฆษณา เป็นต้น

shutterstock 2162071969.jpg11

โครงสร้างรายได้ของ BEM ในปัจจุบัน มาจาก 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่

1. ธุรกิจทางพิเศษ (Express Way) ประมาณ 60% ของรายได้ทั้งหมด

2. ธุรกิจรถไฟฟ้า (Rail Business) ประมาณ 32% ของรายได้ทั้งหมด

3. ธุรกิจปล่อยพื้นที่ (Commercial Development) ประมาณ 8% ของรายได้ทั้งหมด

คาดกําไรไตรมาส 3/65 ดีสุดในรอบ 3 ปี

BEM น่าจะมีการประกาศงบไตรมาส 3/2565 ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤศจิกายน  คาดการณ์ว่าจะฟื้นตัวแรงต่อเนื่อง และจะแตะจุดสูงสุดในรอบ 12 ไตรมาส หรือ 3 ปี เนื่องจากปัจจัยบวกของจำนวนผู้โดยสายรถไฟฟ้าและจํานวนผู้ใช้ทางด่วนที่ปรับตัวสูงขึ้น

นักวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส ประเมินผลประกอบการไตรมาส 3/2565 ว่า BEM จะมีรายได้อยู่ที่ 3,639 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 69% จากช่วงปีก่อน และคาดจะมีกำไรสุทธิ 867 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 700% จากช่วงปีก่อน หนุนโดยจำนวนการใช้บริการทางด่วนเฉลี่ยอยู่ที่ 1.07 ล้านคันต่อวัน ขณะที่ผู้โดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินอยู่ที่ 3.1 แสนเที่ยวต่อวัน

ด้านต้นทุนก็มีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น ซึ่งรายได้ที่เติบโตทําให้เกิดความประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) จึงคาดว่ามาร์จินจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 44.1% ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (SG&A) จะลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา เพราะว่าจะไม่มีค่าใช้จ่ายพิเศษด้านพนักงานจากธุรกิจทางด่วนซึ่งเป็นรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว

ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ แรงหนุนสำคัญจำนวนผู้ใช้ MRT

การกลับมาเปิดอีกครั้งของ “ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” หลังมีการปรับปรุงเพิ่มพื้นที่ให้ใหญ่กว่าเดิมถึง 5 เท่า เชื่อว่าจะเป็นแรงหนุนสำคัญให้จำนวนผู้ใช้รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินที่ BEM เป็นผู้ให้บริการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เส้นทางดังกล่าวบริษัทดำเนินการภายใต้สัญญาสัมปทานเป็นผู้จัดเก็บรายได้จากการบริการเดินรถทั้งหมดและจ่ายค่าตอบแทนคืนให้รัฐตามที่ตกลง (Net Cost Agreement)  ปัจจุบันอยู่ที่ 15% จากราคาเฉลี่ย 27 บาทต่อเที่ยว

ฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ BEM เปิดเผยว่า ล่าสุดศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ระหว่างวันที่ 12-23 ตุลาคม 2565 ส่งผลให้มีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยปริมาณผู้โดยสารเฉพาะสถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เฉลี่ยต่อวันสูงกว่า 2 หมื่นคนแล้ว นอกจากนี้ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จะยังมีงานใหญ่ที่ดึงดูดให้ผู้คนใช้บริการรถไฟฟ้าอย่างคึกคัก เช่น Mobile Expo และการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (APEC 2022)

89032564 10158161509824516 6668396249885966336 n

มีมูลค่าเพิ่มจากโครงการใหม่

ราคาหุ้น BEM ยังมีประเด็นเชิงบวกเพิ่มเติมจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ซึ่งคาดว่าจะเซ็นสัญญาได้ภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันออก งานก่อสร้างคืบหน้าไปกว่า 98% ระยะถัดไป ต้องจัดหารถมาให้บริการภายในเวลาไม่เกิน 3 ปี 6 เดือน หลังเซ็นสัญญา จึงคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการในปี 2569

ในส่วนของสัญญาเดินรถ รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เชื่อว่า รฟม. จะรอให้การเซ็นสัญญาสายสีส้มผ่านไปเรียบร้อยก่อน ซึ่งก็มีโอกาสสูงมากที่ BEM จะคว้าโครงการนี้มาได้ เนื่องจากสายสีม่วงเหนือเป็นจุดเชื่อมต่อ กับสายสีม่วงใต้ที่ BEM เป็นผู้ได้สัญญาบริหารการเดินรถ ดังนั้น หากยึดในแนวคิด “One Line One Operator” รถไฟฟ้า 1 เส้น ควรมีผู้ดูแลเพียง 1 รายเท่านั้น ทั้งนี้ การเจรจาสัญญาเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้น่าจะเกิดขึ้นภายในปี 2566 เพื่อให้การจัดหาขบวนรถและติดตั้งระบบต่างๆ สอดคล้องกับงานโยธาที่จะแล้วเสร็จภายในปี 2570

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน