Stock

‘ดาวโจนส์’ ปิดตลาด พุ่งกว่า 700 จุด ขานรับข่าว ‘เฟด’ เล็งขึ้นดอกเบี้ยช้าลง

ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ของสหรัฐ ปิดซื้อขายวานนี้ (21 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น โดยที่ “ดาวโจนส์” พุ่งทะลุ 700 จุด ขานรับรายงานข่าวที่ว่า มีแนวโน้มที่ “ธนาคารกลางสหรัฐ”  จะหารือ ถึงเรื่องการขึ้นดอกเบี้ย ในอัตราที่ลดลง ในเดือนธันวาคม

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปิดที่ 31,082.56 จุด พุ่งขึ้น 748.97 จุด หรือ +2.47% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปิดที่ 3,752.75 จุด พุ่งขึ้น 86.97 จุด หรือ +2.37% และดัชนีแนสแด็ก ปิดที่ 10,859.72 จุด พุ่งขึ้น 244.87 จุด หรือ +2.31%

ดาวโจนส์

ดัชนีทั้ง 3 ตัวปรับตัวขึ้นรายสัปดาห์มากที่สุดในรอบ 4 เดือน โดยในรอบสัปดาห์นี้ ดาวโจนส์บวก 4.89% เอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 4.74% และแนสแด็ก ปรับตัวขึ้น 5.22%

หุ้นทั้ง 11 กลุ่มของดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปิดบวก นำโดยหุ้นกลุ่มวัสดุพุ่ง 3.46% ขณะที่หุ้นกลุ่มการเงิน และกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยพุ่งขึ้น 2.92%

ตลาดพุ่งขึ้น หลังหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานว่า เจ้าหน้าที่ธนาคารากลางสหรัฐ (เฟด) บางราย เริ่มแสดงความต้องการที่จะชะลออัตราการขึ้นดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ และเตรียมส่งสัญญาณ ถึงแผนการที่จะอนุมัติการขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ลดลง ในเดือนธันวาคม

นางแมรี ดาลี ประธานเฟด สาขาซานฟรานซิสโก กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่จะเริ่มหารือเกี่ยวกับการชะลออัตราการปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะช่วยหลีกเลี่ยงการทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะชะลอตัว จากการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรงเกินไป

นอกจากนี้ นายชาร์ลส์ อีแวนส์ ประธานเฟดสาขาชิคาโกระบุว่า เฟดควรขึ้นดอกเบี้ยสู่เหนือระดับ 4.5% เพียงเล็กน้อยในต้นปีหน้า และคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับดังกล่าวหลังจากนั้น

ด้านบรรดานักวิเคราะห์ได้คาดการณ์กันอย่างกว้างขวางว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมครั้งที่ 4 ติดต่อกันในเดือนพฤศจิกายนนี้

ดาวโจนส์

ที่ผ่านมานั้นตลาดหุ้นสหรัฐเผชิญแรงกดดัน เนื่องจากเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยเชิงรุก ในความพยายามที่จะเงินเฟ้อ ซึ่งอยู่ในระดับสูงมาก จนทำให้เกิดความกังวลว่า อาจเป็นการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด และจะทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย

ในสัปดาห์หน้าตลาดจะจับตาการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัททวิตเตอร์ ไมโครซอฟท์ คอร์ป อัลฟาเบท และแอปเปิ้ล

ข้อมูลจากรีฟินิทิฟ (Refinitiv) คาดว่า ผลประกอบการไตรมาส 3 ของบริษัทในดัชนีเอสแอนด์พี 500 จะขยายตัว 3.1% ในไตรมาส 3 เพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์เมื่อต้นสัปดาห์ที่ระดับ 2.8%

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo