Stock

เข้าสู่ภาวะหมี! ‘ดาวโจนส์’ ปิดตลาดร่วง 329 จุด กังวลเร่งขึ้นดอกเบี้ย ฉุดเศรษฐกิจถดถอย

ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ของสหรัฐ ปิดซื้อขายวานนี้ (26 ก.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น โดยที่ “ดาวโจนส์” ร่วงลงอีก 329 จุด จากความกังวลว่า “เฟด” เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญภาวะถดถอย 

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปิดที่ 29,260.81 จุด ร่วงลง 329.60 จุด หรือ -1.11% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปิดที่ 3,655.04 จุด ลดลง 38.19 จุด หรือ -1.03% และดัชนีแนสแด็กปิดที่ 10,802.92 จุด ลดลง 65.00 จุด หรือ -0.60%

ตลาดยังได้รับปัจจัยลบจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ที่เกิดจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย

ดาวโจนส์

ขณะนี้นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนพฤศจิกายน และปรับขึ้นอีก 0.50% ในเดือนธันวาคม ซึ่งหากเป็นไปตามคาด จะทำให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยในระดับ 0.75% ติดต่อกันถึง 4 ครั้ง  และทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเฟดพุ่งแตะระดับ 4.25-4.50% ในช่วงสิ้นปีนี้ สูงกว่าระดับ 2.50% ซึ่งเป็นระดับดอกเบี้ย ที่เฟดมองว่าเป็นกลาง ไม่ผ่อนคลาย หรือเข้มงวดจนเกินไป

นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากความผันผวนในตลาดปริวรรตเงินตรา โดยดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ซึ่งทำให้นักลงทุนกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีรายได้จากต่างประเทศ ขณะที่เงินปอนด์ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานะการคลังของรัฐบาลอังกฤษ

ทั้งนี้ ดัชนีดาวโจนส์เข้าสู่ภาวะตลาดหมี (Bear Market) แล้วเมื่อวานนี้ เนื่องจากดัชนีทรุดตัวลงกว่า 20% จากระดับปิดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ที่ทำไว้เมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเข้าเกณฑ์คำนิยามภาวะตลาดหมี

ส่วนดัชนี CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ พุ่งขึ้นแตะระดับ 32.88 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน

หุ้น 10 ใน 11 กลุ่มในดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปิดในแดนลบ โดยหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ร่วงลงหนักสุด เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด  ส่วนหุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลง หลังจากราคาน้ำมัน WTI ดิ่งลงกว่า 2%

อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่มกาสิโนพุ่งขึ้น ขานรับรายงานที่ว่า เขตปกครองพิเศษมาเก๊าเตรียมเปิดรับกรุ๊ปทัวร์จีนในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นการเปิดรับครั้งแรกในรอบเกือบ 3 ปี

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo