Stock

วิตก ‘เศรษฐกิจถดถอย-ค่าเงินผันผวนหนัก’ ฉุด ‘ดาวโจนส์’ ร่วงกว่า 200 จุด

ตลาดหุ้นสหรัฐ ซื้อขายช่วงเช้าวันนี้ (26 ก.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น โดยที่ “ดาวโจนส์” ร่วงลงมากกว่า 200 จุด ท่ามกลางความกังวลว่า “เฟด” ดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดเกินไป จะทำให้เศรษฐกิจตกอยู่ในภาวะถดถอย

นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับผลกระทบจากภาวะผันผวนในตลาดปริวรรตเงินตรา ขณะที่ดอลลาร์แข็งค่าเทียบสกุลเงินหลัก ซึ่งทำให้นักลงทุนกังวลว่าจะกระทบต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีรายได้จากต่างประเทศ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวล่าสุดที่ 29,337.65 จุด ร่วงลง 252.76 จุด หรือ 0.85% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ที่ 3,662.84 จุด ลดลง 30.39 จุด หรือ 0.82% และดัชนีแนสแด็กที่ 10,829.25 จุด ขยับลงมา 38.67 จุด หรือ 0.36%

ดาวโจนส์

นักลงทุนคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนพฤศจิกายน และปรับขึ้นอีก 0.50% ในเดือนธันวาคม ซึ่งหากเป็นไปตามคาด จะทำให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยในระดับ 0.75% ติดต่อกันถึง 4 ครั้ง  และทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเฟดพุ่งแตะระดับ 4.25-4.50% ในช่วงสิ้นปีนี้ สูงกว่าระดับ 2.50% ซึ่งเป็นระดับดอกเบี้ย ที่เฟดมองว่าเป็นกลาง ไม่ผ่อนคลาย หรือเข้มงวดจนเกินไป

นอกจากนี้ นักลงทุนกังวลว่าการแข็งค่าของดอลลาร์ในขณะนี้ จะส่งผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนที่มีรายได้จากต่างประเทศ

เงินดอลลาร์พุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับปอนด์อังกฤษ และแข็งค่ามากสุดในรอบ 20 ปี เมื่อเทียบกับเงินยูโร และพุ่งขึ้นไปอยู่เหนือระดับ 144 เยน แม้รัฐบาลญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราครั้งใหญ่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อพยุงค่าเงินเยนที่ทรุดตัวลง

ตลาดยังถูกกดดันจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ  โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อนโยบายการเงินของเฟด พุ่งทะลุ 4.3% แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2550 และอยู่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีและ 30 ปี

การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวสูงกว่าระยะยาว ส่งผลให้ตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย

นายสตีฟ แฮงค์ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกิ้นส์ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ 80% ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย หากเฟดยังคงใช้มาตรการปรับลดขนาดงบดุล (QT) ต่อไป

นายแฮงค์ กล่าวว่า เฟดเป็นต้นเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมากเข้าสู่ระบบนับตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งเป็นปัจจัยผลักดันให้ราคาทะยานขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคเต็มใจจ่ายมากขึ้นสำหรับการซื้อสินค้า

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo