Stock

‘SCB – KKP’ เด่นสุดหุ้นแบงก์ หลังยกเลิกเพดานจ่ายปันผล!

เป็นประเด็นที่กดดันหุ้นธนาคารอย่างต่อเนื่อง กับการที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ออกมาตรการห้ามทุกธนาคารงดจ่ายปันผลและซื้อหุ้นคืน เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ก่อนที่จะผ่อนคลายให้สามารถจ่ายเงินปันผลไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิประจำปี เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564

ล่าสุดประเด็นนี้ได้ถูกปลดล็อกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อแบงก์ชาติเห็นว่าภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน และก็เริ่มส่งผลดีต่อสถานะของลูกหนี้หลายกลุ่ม ดังนั้นจึงปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแล ดังนี้

1. ยกเลิกเพดานจ่ายปันผลของธนาคารพาณิชย์

จากเดิมที่จำกัดอัตราการจ่ายไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิประจำปี แต่ให้ยึดหลักความระมัดระวัง เพราะระบบธนาคารพาณิชย์มีความแข็งแกร่ง มีเงินกองทุนและเงินสำรองเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงในระยะข้างหน้า รวมทั้งในต่างประเทศส่วนใหญ่ ก็ได้ยกเลิกนโยบายจำกัดการจ่ายเงินปันผลแล้วเช่นกัน

scb kkp

2. ปรับอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF เป็น 0.46% ตั้งแต่ต้นปี 2566

จากเดิมที่เคยปรับลดลงเหลือ 0.23% ต่อปี สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น

3. คงมาตรการแก้หนี้ระยะยาวที่ช่วยสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนแก่ผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนไปจนถึงสิ้นปี 2566 ได้แก่

4. คงอัตราผ่อนชำระบัตรเครดิตขั้นต่ำ 5% ถึงสิ้นปี 2566 และ 8% ถึงสิ้นปี 2567

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แบงก์ชาติคาดหวังว่าสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการทางการเงินจะยังคงให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการแก้หนี้เดิมหรือเติมเงินใหม่ เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนก่อนที่เราจะตัดสินใจทำอะไร ให้คำนึงถึงข้างหน้า คุณภาพลูกหนี้ ปัจจัยภายใน ภายนอก ดูเงินกองทุน สภาพคล่อง สำรอง ซึ่งแบงก์มีเงินระดับกองทุนที่แข็งแกร่ง และ มีกันชนที่แข็งแรงเพียงพอที่จะรับแรงกระแทกได้

รณดล นุ่มนนท์301
รณดล นุ่มนนท์

SCB – KKP ลุ้นจ่ายเงินปันผลเพิ่ม

นักวิเคราะห์ บล.เคทีบีเอสที เปิดเผยว่า ประเด็นดังกล่าวอยู่ในประมาณการของฝ่ายวิเคราะห์อยู่แล้ว จึงมีมุมมองเป็นกลางต่อกลุ่มธนาคาร แต่อย่างไรก็ตาม มองว่า SCB หรือ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) และ KKP หรือ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) จะได้ประโยชน์จากการยกเลิกเพดานปันผล

ประเมินว่า SCB จะกลับไปจ่ายปันผลในระดับเดียวกันกับปี 2562 ที่ 50% ของกำไรสุทธิได้ หลังจากปั 2564 จ่ายเพียง 39% และจะทำให้จะมี upside ต่อเงินปันผลในปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 5.80 บาทต่อหุ้น จากเดิมที่เราคาดไว้ที่ 3.40 บาทต่อหุ้น โดยแนะนำ “ซื้อ” หุ้น SCB ราคาเป้าหมาย 150 บาท

ขณะที่ KKP คาดจะกลับไปจ่ายปันผลที่ระดับเดียวกันกับปี 2562 ที่ 60% ของกำไรสุทธิได้ จากที่จ่าย 40% ของกำไรสุทธิเมื่อปี 2564 ซึ่งจะทำให้จะมี upside ต่อเงินปันผลในปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 5.30 บาทต่อหุ้น จากเดิมที่คาดไว้ที่ 3.60 บาทต่อหุ้น จึงแนะนำ “ซื้อ” หุ้น KKP ราคาเป้าหมาย 80 บาท

ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีโอกาสที่ทั้งสองธนาคารจะจ่ายเงินปันผลเพิ่มในปี 2565 แต่ก็อาจเป็นโอกาสที่น้อย เพราะปัจจุบัน SCB ยังอยู่ในช่วงของการลงทุนเพิ่ม ในส่วนของ KKP ก็ยังคงเน้นการปล่อยสินเชื่ออยู่

ด้าน บล.บัวหลวง มีมุมมองเป็นกลางจากมาตรการของแบงก์ชาติ เนื่องจากปัจจุบันได้ใส่ประมาณการจ่ายปันผลในปี 2565 ไว้ในการวิเคราะห์อยู่แล้ว ซ่งใกล้เคียงอัตราจ่ายปันผลต่อกำไรสุทธิในช่วงก่อนโควิด-19 ส่วนเรื่องปรับอัตรา FIDF ไปที่ 0.46% ก็ใส่ไว้ในประมาณการแล้วเช่นกัน นอกจากนี้ ประเด็นอื่นๆ เช่น นโยบายช่วยเหลือลูกหนี้ ไม่ได้มีผลกระทบต่อประมาณการกำไรของกลุ่มธนาคาร ที่คาดไว้ว่าปีนี้จะอยู่ที่ 1.98 แสนล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโต 11% จากปีก่อน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน