Stock

‘ค่าการกลั่นน้ำมัน’ ไม่เท่ากับ ‘กำไรสุทธิ’ ของหุ้นโรงกลั่น

‘ค่าการกลั่นน้ำมัน’ ไม่เท่ากับ ‘กำไรสุทธิ’ ของหุ้นโรงกลั่น ล่าสุด ไทยออยล์  ได้ชี้แจงสร้างความกระจ่างประเด็นค่าการกลั่นน้ำมัน ใน 4 ประเด็น ที่ยังสร้างความสับสน 

จากกรณีที่ภาครัฐหาแนวทางแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพง โดยขอความร่วมมือจากผู้ประกอบธุรกิจโรงกลั่นในประเทศไทย นำส่งกำไรค่าการกลั่นเข้าอุดหนุนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้นำมาสู่การถกเถียงในวงกว้างเกี่ยวกับประเด็นของ “ค่าการกลั่นน้ำมัน” ที่ปัจจุบันเคลื่อนไหวอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแบบเน้นคุณต่า (Value Investor) เปิดเผยถึงความกังวลว่าการแทรกแซงทางธุรกิจโรงกลั่นโดยรัฐ นั้นมี “ต้นทุน” มากกว่าเรื่องของเงินมาก ต้นทุนที่ว่าก็คือชื่อเสียงที่จะเสียหายในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับตลาดทุนไทยในอนาคต ดังนั้นจึงเป็นความเสี่ยง ที่เรียกว่า “Regulatory Risk” หรือความเสี่ยงที่เกิดจากการควบคุมธุรกิจของรัฐ ที่อาจจะทำให้บริษัทเสียหาย

อาจจะมีการเถียงว่าไม่ได้บังคับ แต่ขอความร่วมมือให้ธุรกิจช่วยเหลือรัฐหรือตอบแทนคืนต่อสังคมในยามที่ได้กำไรมากกว่าปกติ แต่ข้อเท็จจริงคือค่าการกลั่นเพิ่งปรับตัวสูงขึ้นไม่นาน ในขณะที่ก่อนหน้านั้นก็ขาดทุนมาอย่างหนัก การได้กำไรมากขึ้นกว่าปกติในช่วงนี้ก็อาจจะถือว่าเป็นการชดเชยให้ธุรกิจโรงกลั่นพออยู่ได้ในระยะยาว

ค่าการกลั่นน้ำมัน

สอดคล้องกับล่าสุดที่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ผู้ประกอบกิจการกลั่นและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูปที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ได้ชี้แจงประเด็นค่าการกลั่นน้ำมัน เพราะเห็นว่ามีข้อมูลบางประการไม่ตรงกับข้อเท็จจริง จนอาจสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและสร้างความสับสนให้กับประชาชน โดยมี 4 ประเด็นสำคัญ

1. ค่าการกลั่นไม่ใช่กำไรสุทธิของโรงกลั่น เนื่องจากคำนวณจากค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของราคาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบในสัดส่วนที่แตกต่างกัน ได้แก่ ก๊าซหุงต้ม น้ำมันเบนซิน น้ำมันอากาศยาน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา เป็นต้น แล้วหักด้วยต้นทุนราคาน้ำมันดิบ อีกทั้งยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายดำเนินการอื่นๆ อีกด้วย

2. โรงกลั่นไม่ได้เป็นผู้กำหนดค่าการกลั่น แต่ขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของตลาดน้ำมันดิบ และตลาดน้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งสะท้อนออกมาเป็นระดับราคาน้ำมันแต่ละชนิดในแต่ละช่วงเวลา

3. การพิจารณาค่าการกลั่นควรใช้ค่าเฉลี่ยระยะยาว เนื่องจากธุรกิจโรงกลั่นมีลักษณะเป็นวัฏจักรขึ้นลง ซึ่งการนำค่าการกลั่นเฉลี่ยระยะสั้นมาพิจารณาจะมีความผันผวนมาก

4.  ตลาดการค้าน้ำมันเป็นกลไกการค้าเสรี ซึ่งผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปถือเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ จึงต้องมีการอ้างอิงตลาดที่มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งยากต่อการแทรกแซงราคา

สำรวจค่าการกลั่นย้อนหลัง ระหว่างปี 2562 – 2565

ค่าการกลั่นน้ำมัน
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ได้มีการประมาณการค่าการกลั่นน้ำมันเฉลี่ยทุกราย ดังนี้
ปี 2562 อยู่ที่ 1.18 บาทต่อลิตร

ปี 2563 อยู่ที่ 0.70 บาทต่อลิตร

ปี 2564 อยู่ที่ 0.89 บาทต่อลิตร

ปี 2565 เดือนมกราคม อยู่ที่ 1.35 บาทต่อลิตร

ปี 2565 เดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ 1.58 บาทต่อลิตร

ปี 2565 เดือนมีนาคม อยู่ที่ 2.80 บาทต่อลิตร

ปี 2565 เดือนเมษายน อยู่ที่ 5.16 บาทต่อลิตร

ปี 2565 เดือนพฤษภาคม อยู่ที่ 5.27 บาทต่อลิตร

ข้อเท็จจริงจะเห็นว่าค่าการกลั่นน้ำมันในประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำมาหลายปี นับตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 แต่เพิ่งจะมาฟื้นตัวจากราว 1 บาทต่อลิตร เป็น 5 บาทต่อลิตร เนื่องจากตลาดเกิดความผันผวนอย่างหนัก จากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน นี่คงเป็นโจทย์ท้าทายของภาครัฐที่ต้องพยายามบริหารการกำกับดูแลให้ดี โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจเป็นแบบนี้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน