Stock

รีด ‘กำไรค่าการกลั่น’ ทางออกน้ำมันแพงหรือทำตลาดพัง?

กรณีที่ค่าการกลั่นน้ำมันเคลื่อนไหวอยู่ในระดับสูง จากเดิมที่เคยมองกันว่าจะเป็นยุคทองของหุ้นโรงกลั่น เพราะจะได้รับผลกำไรที่เติบโตต่อเนื่อง แต่ล่าสุดการที่รัฐบาลเล็งใช้มาตรการแทรกแซง เพื่อแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพงในขณะนี้ กลับกลายเป็นประเด็นที่กดดันหุ้นโรงกลั่นมากทีเดียว

เบื้องต้นคาดว่าจะเป็นจำนวนเงินประมาณ 8,500 ล้านบาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน (กรกฎาคม – กันยายน 2565) เพื่อนำเงินส่วนนี้มาอุดหนุนราคาน้ำมันภายในประเทศ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 25,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 1. อุดหนุนน้ำมันดีเซล 5,000 – 6,000 ล้านบาทต่อเดือน  2. อุดหนุนน้ำมันเบนซิน 1,000 ล้านบาทต่อเดือน และ 3. เก็บจากกำไรของโรงแยกก๊าซอีกประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อเดือน เข้าสู่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุน หากมาตรการดังกล่าวเกิดขึ้นจริง (คาดว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. วันนี้ (21 มิ.ย.ุ65) ถือว่าเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลไทยขอแบ่งกำไรจากโรงกลั่น และเข้ามาแทรกแซงกลไกราคาตลาด

น้ำมันเเพง e1655793070349

พูดง่ายๆ ว่าการหักจากกำไรของโรงกลั่นแบบนี้ จะส่งผลโดยตรงต่อผลประกอบการในช่วง 3 เดือนดังกล่าว เนื่องจากค่าการกลั่นเปรียบเสมือนอัตรากำไรขั้นต้นของโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งมาจากส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่โรงกลั่นผลิตได้กับต้นทุนราคาน้ำมันดิบ ดังนั้น เราจึงได้เห็นเลยว่าความเคลื่อนไหวของหุ้นโรงกลั่นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับตัวลดลงกันถ้วนหน้า

คำถามก็คือการแก้ปัญหาน้ำมันแพงด้วยวิธี รัฐบาลมาถูกทางแล้วหรือไม่? เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ธุรกิจการกลั่นน้ำมันเป็นตลาดเสรี ราคาปรับขึ้นลงตามกลไกตลาดโลก และค่าการกลั่นในประเทศไทยก็อ้างอิงตลาดน้ำมันสิงคโปร์ ซึ่งการเข้ามาแทรกแซงอาจช่วยลดผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงในระยะสั้น แต่อาจส่งผลต่อโครงสร้างธุรกิจพลังงานในระยะยาว

บล. เอเซีย พลัส ประเมินเบื้องต้นว่าหากกำหนดให้โรงกลั่นทุกแห่งช่วยเหลือภาครัฐทุกๆ 1 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 1 เดือน จะทำให้กำไรของโรงกลั่นแต่ละแห่งหายไป ดังนี้

โรงกลั่นช่วยภาครัฐ1

นอกจากกำไรที่หายไปแล้ว ยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนในธุรกิจพลังงานในระยะยาว เพราะการแทรกแซงจากรัฐโดยตรง ถือว่าบิดเบือนธรรมชาติของธุรกิจการกลั่นที่แต่เดิมไม่เคยมีการควบคุมค่าการกลั่น จึงมีทั้งช่วงที่ได้กำไรและขาดทุน อีกทั้งหากสถานการณ์ราคาน้ำมันยังไม่ดีขึ้น อาจจะมีมาตรการต่อเนื่องไปอีกก็ได้

ยิ่งกว่านั้นไม่มีใครยืนยันได้ว่าผู้ประกอบการโรงกลั่นทั้ง 6 แห่ง จะยอมรับข้อเสนอของภาครัฐหรือไม่ กรณีที่โดนบีบให้ราคาขายปลีกหน้าโรงกลั่นลดลงมากจนเกินไป เราอาจเห็นการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปมากขึ้น เพราะได้ราคาสูงกว่าการขายในประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นที่น่ากังวลว่าอาจทำให้กลไกการค้าเสรีถูกบิดเบือนจนพังเอาได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน