Stock

‘ดาวโจนส์’ ปิดร่วง 880 จุด วิตกเงินเฟ้อพุ่ง-เฟดขึ้นดอกเบี้ยแรง

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 800 จุดในวันศุกร์ (10 มิ.ย.) หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่สูงเกินคาด ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และจะส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,392.79 จุด ร่วงลง 880.00 จุด หรือ -2.73%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,900.86 จุด ร่วงลง 116.96 จุด หรือ -2.91% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,340.02 จุด ร่วงลง 414.20 จุด หรือ -3.52%

ดาวโจนส์

ดัชนีหุ้นทั้ง 3 ตัวร่วงลงในสัปดาห์นี้หนักที่สุดเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่สัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 21 ม.ค. โดยในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์ร่วง 4.58%, ดัชนี S&P500 ร่วง 5.06% และดัชนี Nasdaq ร่วง 5.60%

ตลาดหุ้นนิวยอร์กปรับตัวผันผวนอย่างหนักในปีนี้ และเผชิญแรงเทขายเมื่อไม่นานมานี้จากความวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อ, อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น และแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มเติบโต ซึ่งมูลค่าหุ้นขึ้นอยู่กับกระแสเงินสดในอนาคตอย่างมากนั้นได้นำตลาดร่วงลง โดยหุ้นไมโครซอฟท์ คอร์ป, หุ้นแอมะซอน.คอม และหุ้นแอปเปิล ฉุดดัชนี S&P500 ร่วงลง

ทั้งนี้ หลังการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี พุ่งขึ้นสู่ระดับ 3.057% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2551 และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี พุ่งแตะ 3.178% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค.

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ (10 มิ.ย.) ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 8.6% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดครั้งใหม่ในรอบ 40 ปี และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.3% โดยดัชนี CPI ดังกล่าวสูงกว่าระดับ 8.3% ในเดือนเม.ย. และสูงกว่าระดับ 8.5% ที่ทำไว้ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2524

นอกจากนี้ ดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.7% ขณะเดียวกัน ดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน พุ่งขึ้น 6.0% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.9% และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI พื้นฐานดีดตัวขึ้น 0.6% ในเดือนพ.ค. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.5%

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo