Stock

หุ้นได้รับประโยชน์ จาก ‘วิกฤตอาหารขาดแคลน’

ทั่วโลกกำลังเจอกับ “วิกฤตอาหารขาดแคลน” (Global Food Crisis) โดยพบว่าดัชนีราคาอาหาร หรือ Food Price Index ในช่วงต้นปี 2565 ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเป็นสติถิสูงสุดในรอบกว่า 30 ปี 

เก็บข้อมูลโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ที่คำนวณการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าอาหารและโภคภัณฑ์ที่มีการซื้อขายทั่วโลก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์กลุ่มธัญพืช ผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อสัตว์ น้ำมันพืช และน้ำตาล

วิกฤตอาหาร

วิกฤตอาหารมีสาเหตุหลักอยู่ 3 ประเด็นด้วยกัน

1. ผลจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน เพราะทั้ง 2 ประเทศถือเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าทางการเกษตร เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด และน้ำมันพืชจากเมล็ดทานตะวัน เป็นต้น

2. การเกิดภาวะโลกร้อน จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนอย่างหนักในหลายประเทศ ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำลง

3. ภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูง หลังจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว และการปรับขึ้นของราคาพลังงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาปุ๋ยที่แพงขึ้นอีกด้วย แต่ขณะเดียวกันค่าครองชีพของประชาชนในหลายประเทศปรับขึ้นตามไม่ทัน

หากย้อนดูข้อมูลดัชนีราคาอาหารโลก จะพบว่ามีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 2564 แล้ว แต่เพิ่งมาปะทุอย่างรุนแรงตั้งแต่มีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศเริ่มเจอกับปัญหาอาหารไม่เพียงพอ ต้องมีการกักตุนอาหารชั่วคราว โดยเฉพาะประเทศที่มีกำลังการผลิตต่ำ และต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารเป็นหลัก เช่น ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ

วิกฤตอาหาร

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยถือว่ามีความได้เปรียบในเรื่องนี้มาก เพราะมีความมั่นคงทางอาหารสูง และสามารถผลิตสินค้าทางการเกษตรเพื่อบริโภคเองในประเทศอย่างสบายๆ แถมยังสามารถเหลือพอส่งออกไปขายในประเทศที่ขาดแคลนได้อีกด้วย ทำให้ช่วงที่ราคาอาหารพุ่งขึ้นแบบนี้ ธุรกิจอาหารและการเกษตรในไทยได้รับประโยชน์มากทีเดียว

บทวิเคราะห์ บล.หยวนต้า ระบุว่า วิกฤตอาหารขาดแคลน เป็นผลบวกต่อธุรกิจอาหารกลุ่มฟาร์มสัตว์บกทั้งหมูและไก่ โดยในไตรมาส 2/2565 มีแนวโน้มเติบโตจากช่วงไตรมาสที่ผ่านมา และช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการบริโภคในประเทศที่ฟื้นตัว รวมถึงได้รับอานิสงส์จากตลาดส่งออก

รวมหุ้นหมู-ไก่ รับประโยชน์วิกฤตอาหาร

เรารวบรวมหุ้นที่ประกอบธุรกิจฟาร์มเลี้ยงหมูและไก่ ที่มีความสามารถในการส่งออก และจะได้รับประโยชน์จากราคาเนื้อหมูและเนื้อไก่ที่ปรับสูงขึ้น อีกทั้งจะมีต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ลดลงจากราคากากถั่วเหลือง ซึ่งไม่ได้ปรับเพิ่มสูงขึ้นเหมือนกับสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ได้แก่ CPF หรือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน), GFPT หรือ บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) และ TFG หรือ บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

วิกฤตอาหาร

นอกจากนี้ หุ้นกลุ่ม Soft -Commodity ก็จะเป็นอีกกลุ่มที่ได้รับประโยชน์เช่นกัน ได้แก่ น้ำมันปาล์ม เช่น หุ้น UVAN, UPOIC, VPO, CPO, LST น้ำตาลดิบ เช่น หุ้น KSL, KTIS, KBS, BRR แป้งสาลี เช่น หุ้น TMILL แป้งมันสำปะหลัง เช่น หุ้น UBE เป็นต้น

สุดท้ายนี้จะเห็นว่าทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสการลงทุนอยู่เสมอ หากเราสามารถมองเกมออกว่าหุ้นกลุ่มไหนมีโอกาสได้รับประโยชน์บ้าง ซึ่งประเทศไทยถือว่าโชคดีที่มีความมั่นคงทางอาหารสูง จึงไม่ต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนนี้

หมายเหตุ | บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำหรือแนะนำให้ซื้อ ถือหรือขายหุ้นแต่อย่างใด ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน