Stock

สำรวจราคาเป้าหมายหุ้นแม่-ลูก ‘BANPU – BPP’ หลังกำไรโตทะลัก

สำรวจราคาเป้าหมายหุ้นแม่ลูก BANPU – BPP หลังกำไรโตทะลัก โดย “บ้านปู” ไตรมาสแรกปีนี้ 1/2565 รายได้รวม 41,509 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 71%  ส่วน “บ้านปู เพาเวอร์” มีรายได้รวม 3,861 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 113%

การปรับตัวขึ้นของราคาพลังงานทั่วโลก เนื่องจากความต้องการใช้ที่พุ่งขึ้นตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ประกอบกับเหตุการณ์ความตึงเครียดในยูเครนและรัสเซีย ทำให้ราคาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ รวมไปถึงถ่านหินปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อผลกำไรของหุ้น BANPU และ BPP

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2565 รายได้รวม 41,509 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 71% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 10,264 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 568% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 

บ้านปู

ปัจจัยหลักมาจากการปรับตัวขึ้นของราคาถ่านหิน ซึ่งราคาขายเฉลี่ยของถ่านหินเพิ่มขึ้นกว่า 100% เป็น 66.63 ดอลลาร์ต่อตัน ส่วนธุรกิจก๊าซธรรมชาติก็เติบโตเช่นกัน จากราคาขายเฉลี่ยที่ปรับเพิ่มขึ้น แม้ว่าปริมาณการผลิตจะลดลง เพราะสภาพอากาศที่หนาวเย็นในเดือนกุมภาพันธ์ที่รัฐเท็กซัส ทำให้ท่อส่งก็าซแข็งและไม่สามารถส่งก็าซได้ตามปกติในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

หุ้นแม่ลูก BANPU – BPP กำไรโตทะลัก

บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP  รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2565 รายได้รวม 3,861 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 113% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 2,918.33 เพิ่มขึ้น 182% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ปัจจัยหลักมาจากรายได้ของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม หรือ CHPs ทั้ง 3 แห่งในประเทศจีน ซึ่งมีปริมาณขายไฟฟ้าและราคาขายไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเริ่มเข้าสู่ตลาดค้าส่งไฟฟ้าในปลายปี 2564 นอกจากนี้ ยังมีการรับรู้รายได้ของโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เข้าลงทุนเมื่อปลายปี 2564 และมีการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรของ บ้านปู เน็กซ์ จากการจำหน่ายเงินลงทุนในการร่วมค้าของกลุ่มธุรกิจซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการการลงทุน (Portfolio Rationalization) และรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้า HPC และโรงไฟฟ้า Nakoso

บ้านปู

โดยรวมแล้วบทวิเคราะห์มองว่าแนวโน้มกำไรในไตรมาส 2/2565 จะยังคงแข็งแกร่งตามราคาถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ ทั้งจากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น และอุปทานยังตึงตัวจากการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมพลังงานไปสู่การใช้พลังงานสะอาด รวมถึงแรงกดดันจากสหภาพยุโรปต่อการคว่ำบาตรอุตสาหกรรมพลังงานของรัสเซีย 

ล่าสุด นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BANPU เปิดเผยในงาน Opportunity Day ว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2565 กำลังการผลิตจะดีขึ้นกว่าไตรมาสแรก พร้อมคงเป้าหมายจะมี EBITDA จากธุรกิจกลุ่ม Green Business เป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ส่วนการเข้าซื้อแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ (Barnett) ในสหรัฐอเมริกา จาก XTO Barnett Shale Gas มูลค่า 25,125 ล้านบาท ยืนยันว่าเป็นการเข้าซื้อในราคา ที่เหมาะสม 

บ้านปู

ขณะที่ BPP มีแนวโน้มที่กำไรจะฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการกลับมาดำเนินการผลิตได้เต็มประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าหงสา และการเข้าสู่ไฮซีซั่นของโรงไฟฟ้า IPP ในประเทศไทย อย่างไรก็ดี ต่อจากนี้บริษัทอาจเจอกับแรงกดดันของส่วนแบ่งกำไรที่ลดลงจากโรงไฟฟ้า Nakoso เนื่องจากมีแผนหยุดซ่อมบำรุงราว 30 วัน

ทั้งนี้ ดร.กิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BPP เปิดเผยในงาน Opportunity Day ว่า ตั้งเป้าหมายระยะยาวในปี 2568 จะมีกำลังการผลิต 5,300 MW จากปัจจุบัน 3,265 MW ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาอยู่หลายดีล ซึ่งต้องรอดูจุดที่เหมาะสมที่สุด เช่น ขยายการลงทุนโรงไฟฟ้า Combined Cycle Gas Turbine เพิ่มเติมในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา และศึกษาการลงทุนเกี่ยวกับ Energy Technology เป็นต้น

หมายเหตุ | บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำหรือแนะนำให้ซื้อ ถือหรือขายหุ้นแต่อย่างใด ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน