Stock

หากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น ‘492 บาท’ ทั่วประเทศ กระทบหุ้นอะไรบ้าง?

หากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 492 บาททั่วประเทศ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ประเมินว่าหากปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-10% จะมีผลต่อต้นทุนค่าแรงของหุ้นในกลุ่มต่าง ๆ  

ปัจจุบันประเทศไทยเจอกับปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาน้ำมันและอาหารสด จากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤติราคาพลังงาน และสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศ จึงปฎิเสธที่ช่วงนี้จะเริ่มมีกระแสพูดถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้แก่คนทำงาน

ครั้งล่าสุดที่รัฐบาลประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ต้องย้อนเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 โดยปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำจาก 308 – 330 บาทต่อวัน เพิ่มเป็น 313 – 336 บาทต่อวัน โดยจังหวัดที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำสูงสุด 336 บาทต่อวัน ได้แก่ ชลบุรี และภูเก็ต ซึ่งเป็นนโยบายที่เกิดขึ้นกว่า 2 ปีมาแล้ว และก็ไม่ได้อิมแพคอะไรมากนัก เมื่อเทียบกับปี 2555 ที่มีการปรับขึ้นค่าแรงทั่วประเทศเป็น 300 บาทต่อวัน

ค่าแรง

ทำให้ช่วงนี้เริ่มมีกระแสข่าวออกมาว่ามีการเตรียมเสนอ ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 492 บาทต่อวัน แม้ล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จะออกมาบอกว่าข่าวดังกล่าวบิดเบือน ไม่เป็นความจริง เนื่องจากการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละครั้ง ต้องมีคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นผู้แทนองค์กรไตรภาคี 3 ฝ่าย คือ รัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง ร่วมพิจารณาอย่างรอบคอบ

สำหรับความคืบหน้าขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกรุงเทพฯ ดำเนินการจัดประชุมเพื่อพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2565 จากนั้นคณะกรรมการค่าจ้างจะพิจารณาข้อมูลทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2565

เตรียมขึ้นค่าแรงปีนี้ กระทบหุ้นตัวไหนบ้าง?

การขึ้นค่าแรงเป็นนโยบายที่ช่วยแก้ปัญหาค่าครองชีพแก่ประชาชน อย่างไรก็ดี ในอีกด้านย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการให้สูงขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ประเมินว่าหากปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-10% จะมีผลต่อต้นทุนค่าแรงของหุ้นในกลุ่มต่างๆ ดังนี้

ค่าแรง

 ที่มา: บทวิเคราะห์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส คาดการณ์ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง ภายใต้สมมุติฐานว่าปัจจัยอื่นคงที่ 

สำหรับหุ้นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ นั่นคือธุรกิจที่มีจำนวนพนักงานค่อนข้างมาก ได้แก่

1. กลุ่มร้านอาหาร เช่น หุ้น ZEN และ M

2. กลุ่มผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม เช่น หุ้น GFPT และ ICHI

3. กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น หุ้น HANA และ KCE

4. กลุ่มสินค้าการเกษตรต้นน้ำ เช่น หุ้น KSL และ STA โดยมีสัดส่วนต้นทุนค่าแรงมากน้อยตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าผลกระทบดังกล่าวจะเป็นเพียงปัจจัยลบในระยะสั้นเท่านั้น แต่จะเป็นผลบวกมากกว่าในระยะยาว เนื่องจากการขึ้นค่าแรงจะดีต่อกำลังซื้อและยอดขายของธุรกิจให้เพิ่มสูงขึ้นได้ในอนาคต ดังนั้น จึงมองว่าคงไม่กระทบต่อปัจจัยพื้นฐานอย่างมีนัยสำคัญ

ค่าแรง

สุดท้ายนี้คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าความชัดเจนของแผนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่าจะออกมาเมื่อไหร่ ในอัตราที่เหมาะสมแค่ไหน เพราะจากสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน หากขึ้นค่าแรงน้อยเกินไป ก็เหมือนเป็นการกดให้ประชาชนคนใช้แรงงานไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ แต่หากปรับขึ้นในระดับที่สูงเกินไป ก็จะเป็นการซ้ำเติมภาคธุรกิจให้มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่ทุกฝ่ายต้องพิจารณาให้ดี

หมายเหตุ | บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำหรือแนะนำให้ซื้อ ถือหรือขายหุ้นแต่อย่างใด ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน