บอร์ดสภาธุรกิจตลาดทุนไทย มีมติจัดทำหนังสือถึงกระทรวงการคลัง คัดค้ายการเก็บภาษีขายหุ้น
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย มีมติจัดทำหนังสือยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษร ถึงรมว.คลัง เรื่องความเห็นต่อการเรียกเก็บภาษีการขายหุ้นในตลาดหุ้นไทย เพื่อแสดงเจตนารมย์ของภาคธุรกิจ
เสนอ 5 แนวทางคัดค้านเก็บภาษีขายหุ้น
ทั้งนี้ ได้เสนอข้อคัดเห็น 5 ประเด็นกรณีภาครัฐจะเรียกเก็บภาษีการขายหุ้นในตลาดหุ้นไทย ดังนี้
1. ไม่เห็นด้วย ที่จะมีการเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหุ้น เนื่องจากจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพคล่องของตลาด เป็นภาระและส่งผลกระทบต่อการซื้อขาย รวมถึงด้อยค่าหุ้นที่ผู้ถือหุ้นถือครองอยู่
ผู้ที่ได้รับผลกระทบคือ นักลงทุนรายย่อยกว่า 2 ล้านคน ที่ลงทุนทางตรงในตลาดหุ้นไทย และอีก 17 ล้านคนที่ลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนรวมและกองทุนสวัสดิการต่าง ๆ รวมถึงกระทบไปถึงนักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนต่างประเทศด้วย
จากการศึกษาในต่างประเทศ พบว่าการเก็บภาษีดังกล่าวจะส่งผลให้ประชาชนต้องออมเพิ่มขึ้นอีก 2-3 ปี เพื่อให้มีเงินเพียงพอในยามเกษียณ ซึ่งเห็นผลของการกระทบในวงกว้างที่ชัดเจน
นอกจากนี้ สภาพคล่องยังเป็นหัวใจสำคัญของตลาดทุน ถ้ามีมาตรการที่เข้ามากระทบสภาพคล่องอย่างรุนแรง ถือว่าน่าจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี ทำให้ความน่าสนใจลดลง และจะกระทบเป็นลูกโซ่ โดยเฉพาะมูลค่าหุ้นต่างๆ มีโอกาสลดลงได้

2. ภาระภาษีที่เพิ่มขึ้น จะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสำหรับ Market Markers ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตลาดทุนใหม่ ๆ โดยเฉพาะ Derivative Wartant และ Single Stock Futures ซึ่งอ้างอิงหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ จะส่งผลต่อการพัฒนานวัตกรรมและขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทยในเวทีโลก ทำให้พัฒนาการต่อตลาดหุ้นไทยอาจถอยหลังไปได้
3. ตลาดหลักทรัพย์ในประเทศที่พัฒนาแล้ว หากจัดเก็บภาษี จะนิยมให้การยกเว้นแก่กลุ่ม Market Markers เช่น ฮ่องกง อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน
รวมทั้งกลุ่มกองทุนรวม กองทุนบำนาญ กองทุนสวัสดิการ เช่น อิตาลี สวิตเซอร์แลด์ เบลเยี่ยม ไอซ์แลนด์ เพื่อลดผลกระทบต่อการออมการลงทุนของประชาชนในวงกว้าง และต่อการพัฒนาเชิงนวัตกรรมของตลาดหลักทรัพย์ในประเทศ
ในกรณีของประเทศไทย นักลงทุนทั้ง 2 กลุ่มทำธุรกรรมขายรวมกัน 12-17% ของมูลค่าขายทั้งหมดในตลาด (สถาบันในประเทศ 7% และ Market Markers 5-10%)
ดังนั้นการให้ยกเว้นภาษีต่อไปถือว่าคุ้มค่าหากเปรียบเทียบเม็ดเงินภาษีดังกล่าวกับผลประโยชน์ในวงกว้างต่อประชาชนและการพัฒนาศักยภาพของตลาดหุ้นไทยในระยะยาว
4. อัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ 0.1% ถูกกำหนดขึ้นตั้งแต่ปี 2534 เมื่ออัตราค่าคอมมิชชั่นอยู่ที่ระดับ 0.5% อย่างไรก็ดีจากสภาวะการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศที่มีมากขึ้น อัตราค่าคอมมิชชั่นจึงลดลงเหลือเพียง 0.08% ในปัจจุบัน
ดังนั้นมูลค่าภาษีที่จัดเก็บตามอัตราภาษีที่ 0.1% และเมื่อรวมภาษีท้องถิ่นอีก 0.01% เป็น 0.11% จะสูงถึง 0.7 เท่าของมูลค่าค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่จัดเก็บในปัจจุบัน จึงจะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อขายอย่างมีนัยสำคัญ
ที่สำคัญ ในภาวะที่ตลาดทุนทั่วโลกมีความผันผวนสูง จากสถานการณ์โควิดและสงครามรัสเซียและยูเครน รวมทั้งการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ส่งผลให้ดัชนีหุ้นทั่วโลก อัตราแลกเปลี่ยน และเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเหศ มีความผันผวนมาก การจัดเก็บกาษีขายหุ้น จะยิ่งเป็นการตอกย้ำความผันผวนดังกล่าว
5. ต้นทุนการระดมทุน (cost of capital) ที่สูงขึ้น เมื่อสภาพคล่องในตลาดลดลง จะทำให้บริษัทจดทะเบียนชะลอ หรือลดการลงทุนและขยายธุรกิจ ทำให้มีกำไรลดลง
ท้ายที่สุด productivity และ GDP ของประเทศ รวมตลอดถึงภาษีนิติบุคคลที่บริษัทจ่ายได้ให้ภาครัฐจะลดลงตามไปด้วย
ผลเสียจะกระทบแรงกับกลุ่มบริษัทขนาดกลางและเล็กที่มีทางเลือกของแหล่งเงินทุนที่จำกัดมากอยู่แล้วในปัจจุบัน
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- เตรียมพร้อม!! คลังยันเดินหน้าเก็บภาษีคริปโทเคอร์เรนซี พร้อมลุยรีดภาษีหุ้นต่อ
- คลังเผย ก.พ.ได้ข้อสรุป ‘ภาษีคริปโตฯ’ แนะนักลงทุน ‘ศึกษาข้อมูล’ ก่อนลงทุน
- ‘ภาษีคริปโต’ คืบหน้า สรรพากรยอม ‘หักกลบกำไรขาดทุน’ ก่อนคำนวณภาษี