Stock

เช็คสถานะ 4 หุ้นธนาคาร โดน S&P หั่นเครดิต ส่งผลกระทบอะไรบ้าง?

เช็คสถานะ 4 หุ้นธนาคาร หลังโดน S&P หั่นเครดิต ส่งผลกระทบอะไรบ้าง? จับตาแนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปีนี้ จะช่วยหนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้แค่ไหน

เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามองกันเลยเมื่อสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลกอย่าง S&P Global Ratings หรือ เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อ (Credit Rating) ของธนาคาร 4 แห่งในปะเทศไทย ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB), ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), ธนาคารกรุงไทย (KTB) และธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) ดังนี้

4 หุ้นธนาคาร
ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ปรับลดจากระดับ BBB+ ลงสู่ระดับ BBB
ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ปรับลดจากระดับ BBB+ ลงสู่ระดับ BBB
ธนาคารกรุงไทย (KTB) ปรับลดจากระดับ BBB ลงสู่ระดับ BBB-
ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) ปรับลดจากระดับ BBB ลงสู่ระดับ BBB-

4 หุ้นธนาคาร

การปรับลด Credit Rating รอบนี้ S&P ให้เหตุผลว่าเป็นการคาดการณ์ความเสี่ยงเชิงระบบที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของธนาคารในประเทศไทย และแม้รัฐบาลกับธนาคารแห่งประเทศไทยได้ใช้มาตรการต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยง แต่มาตรการเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อปัญหาการปล่อยกู้ในภาคธนาคารยืดเยื้อออกไปอีก ส่วนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยค่อนข้างเปราะบาง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยคาดการณ์ว่า NPL ธนาคารไทยจะค่อยๆ ปรับตัวขึ้นในอีก 2 ปี จนแตะที่ระดับ 5%

แบงก์ชาติชี้แจง S&P ปรับลดความน่าเชื่อถือ

ประเด็นนี้ นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ชี้แจงว่า แบงก์ชาติมีมาตรการสนับสนุน ให้ธนาคารพาณิชย์ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ ที่ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุดและเหมาะสมกับสถานการณ์มาต่อเนื่อง  ถือเป็นการดำเนินนโยบายเชิงผ่อนคลายที่เหมาะกับบริบทของไทย และไม่ต่างไปจากแนวทางประเทศต่างๆ

โดยจะเห็นได้ว่าลูกหนี้ภายใต้มาตรการช่วยเหลือปรับลดลงจากที่เคยสูงสุดที่ 30% ของสินเชื่อในเดือนกรกฎาคม 2563 มาอยู่ที่ 14% ณ สิ้นปี 2564 ขณะเดียวกันแบงก์ชาติได้ติดตามความเสี่ยง คุณภาพสินเชื่อ และฐานะของธนาคารพาณิชย์อย่างใกล้ชิด ล่าสุดฐานะการเงินของระบบยังแข็งแกร่ง อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) อยู่ที่ 20% ซึ่งปัจจุบันเงินสำรองของระบบธนาคารพาณิชย์ อยู่ที่ 8.9 แสนล้านบาท คิดเป็น 1.6 เท่าของสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio)

วิเคราะห์หุ้น SCB-KBANK-KTB-TTB กระทบแค่ไหน?

กรณีที่ S&P หั่นเครดิต 4 แบงก์ใหญ่ นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า มีโอกาสส่งผลต่อ Sentiment เชิงลบต่อราคาหุ้นกลุ่มธนาคาร แต่มองว่าการปรับลด Credit Rating อาจไม่ได้กระทบต่อ 4 หุ้นแบงก์มากนัก เพราะทางพื้นฐานจะส่งผลให้แนวโน้มต้นทุนการออกหุ้นกู้ใหม่สูงขึ้น

เนื่องจากธนาคารไทยระดมทุนผ่านเงินฝากเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนราว 70% – 80% ของหนี้สิน ส่วนการระดมทุนผ่านตราสารหนี้มีสัดส่วนเล็กน้อย โดย KTB สัดส่วน 4% ของหนี้สิน, TTB สัดส่วน 4% ของหนี้สิน, KBANK สัดส่วน 3% ของหนี้สิน และ SCB สัดส่วน 2.6% ของหนี้สิน

ทั้งนี้ จึงยังคงน้ำหนักการลงทุนหุ้นกลุ่มธนาคาร “เท่าตลาด” โดยมองว่า P/BV ไม่แพง ซื้อขายกันที่ 0.8 เท่า ช่วงที่ผ่านมา ราคาหุ้นในกลุ่มได้มีการปรับฐาน หลังแนวโน้ม GDP เปิด Downside มากกว่า Upside ประกอบกับทิศทาง Fund Flow จากต่างชาติเริ่มชะลอตัว

อย่างไรก็ตาม เมื่อสำรวจความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นแบงก์ 4 ตัว ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา (22 ก.พ. – 22 มี.ค. 2565) ได้ปรับตัวลดลงก่อนที่ข่าวลบจะออกมา ดังนี้
ราคาหุ้น SCB ปรับลดลง -11.97% จากเดือนก่อน (MoM)
ราคาหุ้น TTB ปรับลดลง -6.47% จากเดือนก่อน (MoM)
ราคาหุ้น KBANK ปรับลดลง -5.34% จากเดือนก่อน (MoM)
ราคาหุ้น KTB ปรับลดลง -3.55% จากเดือนก่อน (MoM)

4 หุ้นธนาคาร

สุดท้ายคงต้องติดตามต่อไปว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1 ของปี 2565 ที่กำลังจะออกมานี้ จะช่วยหนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้แค่ไหน หรือจะเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ ความไม่แน่นอนตามที่ S&P Global Ratings ได้ประเมินเอาไว้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน