Stock

‘CKPower’ สร้างสถิติใหม่ ผลประกอบการปี 2564 สูงสุดเป็นประวัติการณ์

“CK Power” สร้างสถิติใหม่ ผลประกอบการปี 2564 สูงสุดเป็นประวัติการณ์  ตั้งงบลงทุน 2,600 ล้านบาท สำหรับปี 2565 มุ่งเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค และมีระดับคาร์บอน ฟุตพริ้นท์ ต่ำที่สุดรายหนึ่ง

นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CK Power (ชื่อย่อหลักทรัพย์: CKP) หนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค เปิดเผยว่า ในปี 2564 CKPower สามารถทำรายได้รวม และสร้างกำไรสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีรายได้รวม 9,334.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 2,157.2 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 30.1%  และ มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,179.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 1,774.3 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 438.4%

CKPower
ปัจจัยหลักที่ทำให้รายได้ในปี 2564 เพิ่มขึ้นมาจากรายได้จากการขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 และ โรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น ที่เพิ่มขึ้น 98.9% และ 5.4% ตามลำดับ

นอกจากนี้ ยังมีรายได้ค่าบริหารโครงการที่เพิ่มขึ้น 74.1% สาเหตุหลักมาจากการเริ่มรับรู้รายได้ค่าบริหารโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งใหม่ ในลาว ตั้งแต่ในไตรมาสที่ 4/2563

ส่วนกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นในปี 2564 มีสาเหตุหลักมาจากการเติบโตของรายได้ จากการขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 และส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนที่ส่วนใหญ่มาจากกำไรสุทธิของโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ยในปี 2564 เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึง 20.0%

ทั้งค่าใช้จ่ายทางการเงินของโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ในปี 2564 ก็ลดลง จากการทยอยชำระคืนเงินต้น และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปี 2563 และ บริษัทยังเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในโรงไฟฟ้าพลังน้ำไแห่งนี้ จาก 37.5% เป็น 42.5% ทำให้การรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเพิ่มขึ้นอีกด้วย

CKPower
ธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์

นายธนวัฒน์ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของ CK Power ในปี 2564 ถือเป็นสถิติใหม่ ทั้งในด้านรายได้รวม และกำไรสุทธิ โดยปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่เติบโตขึ้นของโรงไฟฟ้าทุกแห่ง และการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผลการดำเนินงานในปี 2564 เติบโตขึ้นได้ดีกว่าที่บริษัทคาดการณ์ไว้ พิสูจน์ให้เห็นว่า แนวทางการบริหารงานของบริษัท สามารถสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากการสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสม ให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนแล้ว CK Power ยังมุ่งมั่นที่จะเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค และมีระดับคาร์บอน ฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ต่ำที่สุดรายหนึ่ง เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของไทย ที่ต้องการมุ่งสู่สังคมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions) ภายในปี 2608

ในปี 2565 CKPower วางแผนลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ทั้งในไทย และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยตั้งงบลงทุนสำหรับปี 2565 จำนวน 2,600 ล้านบาท เพื่อเพิ่มทุนตามสัดส่วนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งใหม่ในลาว และลงทุนเพิ่มเติมในโครงการอื่น ๆ

CKPower

กำลังการผลิตติดตั้งใหม่ทั้งหมดที่บริษัทลงทุน จะมาจากพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และพลังงานลม เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายกำลังการผลิตติดตั้งของบริษัทที่ 4,800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2567 และเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตจากพลังงานหมุนเวียนให้ไม่ต่ำกว่า 95% ของกำลังการผลิตรวมของบริษัท

ในปี 2565 บริษัทยังมีแผนขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืนในมิติสังคม และสิ่งแวดล้อมทั้งในไทย และลาว ด้วยหลักการ “ร่วมคิด ร่วมลงมือทำ ร่วมพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนและสังคม” ผ่านกิจกรรมเพื่อสังคม ที่สร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานกับชุมชน

กิจกรรมในไทย เช่น การวางแผนพัฒนาพื้นที่วัดนาห้วย อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ด้วยการปรับปรุงระบบระบายน้ำ วางแผนติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา ส่งต่อแนวทางการพัฒนาด้วยรูปแบบความพอเพียง และยั่งยืน

ส่วนกิจกรรมเพื่อสังคมในลาว ได้แก่ โครงการพัฒนาโรงเรียนอนุบาลหินหัวเสือ แขวงไซสมบูน เพื่อพัฒนาการศึกษาโดยรอบพื้นที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 ด้วยการสร้างและปรับปรุงอาคารเรียน ระบบไฟฟ้า ห้องน้ำ สนามเด็กเล่น และพื้นที่ต่าง ๆ ในโรงเรียน

พร้อมสนับสนุนการเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาด ด้วยการติดเครื่องกรองน้ำจากพลังแสงอาทิตย์ และโครงการผลิตปุ๋ยจากขยะมูลฝอย ที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี โดยนำขยะประเภทเศษอาหาร มาทำเป็นปุ๋ยหมักสำหรับทดลองใช้เพาะปลูกพืช และจะนำไปถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้าต่อไป

CKPower

ทำความรู้จัก CKPower

บริษัทประกอบธุรกิจผลิต และจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่าง ๆ 3 ประเภท จำนวน 13 แห่ง รวมขนาดกำลังการผลิตติดตั้งที่ 2,167 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย

  • โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2 แห่ง ภายใต้ บริษัท ไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 46% ผ่านทางบริษัท เซาท์อีสท์ เอเชีย เอนเนอร์จี จำกัด ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 615 เมกะวัตต์ และบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 42.5% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์
  • โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม จำนวน 2 แห่ง ภายใต้ บริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้นอยู่ 65% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 238 เมกะวัตต์
  • โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 9 แห่ง ภายใต้ บริษัท บางเขนชัย จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 100% จำนวน 7 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 15 เมกะวัตต์ ภายใต้ บริษัท เชียงราย โซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัท ถือหุ้น 30% จำนวน 1 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 8 เมกะวัตต์ และภายใต้บริษัท นครราชสีมา โซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 30% จำนวน 1 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 6 เมกะวัตต์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo