Stock

‘ดาวโจนส์’ ฟื้นตัว พุ่งเกิน 100 จุด เมิน ‘เงินเฟ้อ’ สูงสุดรอบเกือบ 40 ปี

ตลาดหุ้นสหรัฐ ซื้อขายช่วงเช้าวันนี้ (28 ม.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น โดยที่ดัชนีหลัก ๆ  ทะยานสูงขึ้น จากแรงช้อนซื้อหุ้นบางตัวที่ร่วงลงอย่างหนัก แม้สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อสูงสุดในรอบเกือบ 40 ปี

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวล่าสุดที่ 34,308.57 จุด ทะยานขึ้น 147.79 หรือ 0.43% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ที่ 4,374.32 จุด ปรับขึ้น 47.81 จุด หรือ 1.11% และดัชนีแนสแด็กที่ 13,580.91 จุด พุ่งขึ้น 228.13 จุด หรือ 1.71%

ดัชนีความผันผวน CBOE หรือ CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นวอลล์สตรีท ดีดตัวขึ้นเกือบ 4% สู่ระดับ 31.70 ในวันนี้

Stocksbitcoin ๒๑๐๔๒๓ 0

ดัชนีดาวโจนส์ปิดตลาดลบ 0.02% วานนี้ ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน โดยตลาดได้รับแรงหนุนจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐที่ขยายตัวดีเกินคาดในไตรมาส 4/64 แต่ก็ถูกกดดันจากความกังวลที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ พุ่งขึ้น 4.9% ในเดือนธันวาคม เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2526 หลังจากเพิ่มขึ้น 4.7% ในเดือนก่อนหน้านั้น

เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.5% ในเดือนธันวาคม หลังจากดีดตัวขึ้น 0.5% เช่นกันในเดือนพฤศจิกายน

ส่วนดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน พุ่งขึ้น 5.8% ในเดือนที่แล้ว  เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2525 หลังจากดีดตัวขึ้น 5.7% ในเดือนพฤศจิกายน เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนธันวาคม จากระดับ 0.6% ในเดือนก่อนหน้านั้น

ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จากกระทรวงแรงงานสหรัฐ

FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 33% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% จำนวน 5 ครั้งในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ให้น้ำหนักเพียง 22%

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 5 ครั้งในปีนี้ จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นแตะระดับ 1.50% ในเดือนธันวาคม จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 0.00-0.25%

นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนักมากถึง 100% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งเป็นเดือนที่เฟดยุติโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)

นักลงทุนเพิ่มคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว หลังจากที่เฟดส่งสัญญาณเร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวว่า เฟดยังคงสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีกมาก โดยไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo