Stock

‘ดาวโจนส์’ ดิ่งเกิน 400 จุด กังวล ‘โอไมครอน’ ทำโลกเจอล็อกดาวน์รอบใหม่ กระทบเศรษฐกิจ

ตลาดหุ้นสหรัฐ ปิดซื้อขายวานนี้ (21 ธ.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น โดยที่ ดาวโจนส์ ร่วงลงกว่า 400 จุด ท่ามกลางความกังวลว่า การแพร่ระบาดของ “โอไมครอน” จะผลักดันให้หลายประเทศ กลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ “น้ำมัน-ทองคำ” กอดคอร่วงตาม 

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,932.16 จุด ลดลง 433.28 จุด หรือ 1.23% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปิดที่ 4,568.02 จุด ลดลง 52.62 จุด หรือ 1.14% และดัชนี แนสแด็กปิดที่ 14,980.94 จุด ลดลง 188.74 จุด หรือ 1.24%

Stocksbitcoin ๒๑๐๒๑๘

ตลาดหุ้นนิวยอร์กเคลื่อนไหวในแดนลบตลอดทั้งวัน ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน โดยล่าสุดผู้นำอังกฤษประกาศว่าจะใช้มาตรการสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโอไมครอนหากจำเป็น ขณะที่เนเธอร์แลนด์เริ่มใช้มาตรการล็อกดาวน์รอบที่ 4 และหลายประเทศในยุโรปกำลังพิจารณาใช้มาตรการที่เข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาด

ความกังวลเรื่องโอไมครอน ยังกดดันให้ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) กำหนดส่งมอบเดือนมกราคม ปิดตลาดร่วงลง 2.63 ดอลลาร์ หรือ 3.7% มาอยู่ที่ 68.23 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการที่นายโจ แมนชิน แกนนำวุฒิสมาชิกของพรรคเดโมแครต ประกาศไม่สนับสนุนร่างกฎหมาย Build Back Better วงเงิน 1.75 ล้านล้านดอลลาร์ ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน โดยอ้างว่าจะเป็นการเพิ่มภาระหนี้ให้กับสหรัฐ ซึ่งท่าทีดังกล่าวของนายแมนชิน จะส่งผลให้ร่างกฎหมายดังกล่าวขาดเสียงสนับสนุนที่เพียงพอในวุฒิสภา แม้ว่าผ่านการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐก่อนหน้านี้

การที่ร่างกฎหมาย Build Back Better ถูกขัดขวางในวุฒิสภาได้ส่งผลให้โกลด์แมน แซคส์ ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาสแรกของปี 2565 สู่ระดับ 2% จากเดิมที่ระดับ 3% และปรับลดคาดการณ์สำหรับไตรมาส 2 และ 3 สู่ระดับ 3% และ 2.75% ตามลำดับ จากเดิมที่ระดับ 3.5% และ 3%

ทางด้านราคาทองคำตลาดนิวยอร์ก ปิดร่วงลงหลุดจากระดับ 1,800 ดอลลาร์ เนื่องจากนักลงทุนยังมีความวิตกอยู่ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 3 ครั้งในปีหน้า นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการที่นักลงทุนชะลอการซื้อขาย ก่อนที่จะถึงวันหยุดในเทศกาลคริสต์มาส

ราคาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ ลดลง 10.3 ดอลลาร์ หรือ 0.57% ปิดที่ 1,794.6 ดอลลาร์ต่อออนซ์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo