Stock

‘ดาวโจนส์’ พุ่งข้ามเส้น 36,000 จุด หลัง ‘เฟด’ ส่งสัญญาณ จัดการเงินเฟ้อ

ตลาดหุ้นสหรัฐ ซื้อขายช่วงเช้าวันนี้ (16 ธ.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น โดยที่ “ดาวโจนส์” ทะยานสูงขึ้น หลัง “เฟด” ส่งสัญญาณยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วงวิกฤติโรคระบาดเร็วขึ้น ทำให้ความกังวลเกี่ยวกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อลดน้อยลง

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวล่าสุดที่ 36,098.96 จุด พุ่งขึ้น 171.53 จุด หรือ 0.48% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ที่ 4,712.25 จุด ขยับขึ้น 2.40 จุด หรือ 0.05% และดัชนีแนสแด็กที่ 15,387.42 จุด ร่วงลง 178.16 จุด หรือ 1.14%

LINE ALBUM Stocksbitcoin ๒๑๑๒๑๖

หุ้นกลุ่มธนาคารดีดตัวขึ้นในการซื้อขายวันนี้ รับคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงหนุนต่อผลประกอบการของภาคธนาคาร เช่นเดียวกับหุ้นกลุ่มพลังงาน ที่พุ่งขึ้น สอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันในตลาด

ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% และประกาศว่า จะเพิ่มการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) เป็นเดือนละ 30,000 ล้านดอลลาร์ เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 โดยเป็นการปรับลดวงเงินเพิ่มขึ้น 2 เท่า จากเดิมเดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะส่งผลให้เฟดยุติการทำคิวอี ในเดือนมีนาคม 2565

นอกจากนี้ ในการคาดการณ์ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่คาดว่า จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2565 และปรับขึ้นดอกเบี้ยจำนวน 2 ครั้งในปี 2566 และปรับขึ้นอีก 2 ครั้งในปี 2567

การประกาศคงอัตราดอกเบี้ย และการปรับลดวงเงินคิวอี เมื่อวานนี้ (15 ธ.ค.) สอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ก่อนหน้านี้ หลังจากที่เฟดได้ส่งสัญญาณหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมาว่า จะเร่งถอนมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน ที่เริ่มใช้ในเดือนมีนาคม 2563 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนั้น หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

หลังการประชุมเฟดวานนี้ FedWatch Tool ของ CME Group ซึ่งวิเคราะห์การซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของสหรัฐ บ่งชี้ว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 44% ที่เฟด จะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งเป็นเดือนที่เฟดยุติการทำคิวอี และมีแนวโน้ม 63% ที่จะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนพฤษภาคม 2565

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 18,000 ราย สู่ระดับ 206,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 195,000 ราย

ตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ ลดลงสู่ระดับ 203,750 ราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย.2512

ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องลดลง 154,000 ราย สู่ระดับ 1.845 ล้านราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเดือนมีนาคม 2563

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo