Stock

กังวล ‘เงินเฟ้อ’ พุ่งสุดรอบ 30 ปี ฉุด ‘ดาวโจนส์’ ร่วง

ตลาดหุ้นสหรัฐ ซื้อขายช่วงเช้าวันนี้ (10 พ.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น โดยที่ “ดาวโจนส์” เดินสู่ขาลง หลังดัชนีราคาผู้บริโภคพุ่งสูงสุดในรอบ 30 ปี ซึ่งอาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)  และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด

อย่างไรก็ดี ตลาดปรับตัวลงไม่มาก เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากตัวเลขว่างงาน ที่ลดลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวล่าสุดที่ 36,277.46 จุด ลดลง 42.52 จุด หรือ 0.12% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ที่ 4,682.07 จุด ขยับลงมา 3.18 จุด หรือ 0.07% และดัชนีแนสแด็กที่ 15,828.16 จุด ร่วงลง 58.38 จุด หรือ 0.37%

Stocksbitcoin ๒๑๐๔๑๙ 0

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อ จากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 6.2% ในเดือนตุลาคม เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2533 เป็นต้นมา และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 5.9% จากระดับ 5.4% ในเดือนกันยายน

เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ดัชนีซีพีไอ เพิ่มขึ้น 0.9% ในเดือนตุลาคม จากระดับ 0.4% ในเดือนกันยายน และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้ว่า จะเพิ่มขึ้น 0.6%

ขณะที่ดัชนีซีพีไอพื้นฐาน ไม่รวมหมวดอาหาร และพลังงาน เพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนที่แล้ว เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.4% จากระดับ 0.2% ในเดือนกันยายน และพุ่งขึ้น 6.2% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2533 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.0% จากระดับ 4.0% ในเดือนกันยายน

ตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงเกินคาดนี้ ทำให้นักลงทุนกังวลมากขึ้นว่า เฟดจะปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด

อย่างไรก็ดี ขาลงของตลาด ยังถูกประคองไว้ จากการที่ กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 4,000 ราย มาอยู่ที่ 267,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุด นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ จากระดับ 271,000 รายในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ทั้งยังเป็นการปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 6 ติดต่อกัน

ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกัน ที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ ลดลงมาอยู่ที่ 278,000 ราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2563

กระทรวงแรงงานสหรัฐ รายงานด้วยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องเพิ่มขึ้น 59,000 ราย มาอยู่ที่ 2.16 ล้านราย  ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกัน ที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง ลดลง 110,750 ราย ที่ 2,245,000 ราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2563

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo