Stock

‘ดาวโจนส์’ ขาขึ้น แรงหนุนความหวังเศรษฐกิจฟื้น ก่อนประชุมเฟด

ตลาดหุ้นสหรัฐ ซื้อขายช่วงเช้าวันนี้ (1 พ.ย.) โดยที่ ดาวโจนส์ ยังทะยานสูงขึ้น แรงหนุนจากขาขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี แต่ยังอยู่ในวงจำกัด จากการที่นักลงทุนยังสงวนท่าที ก่อนหน้าการประชุมเฟด 

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวล่าสุดที่ 35,877.65 จุด ปรับขึ้น 58.09 จุด หรือ 0.16% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ที่ 4,609.29 จุด ขยับขึ้นมา 3.91 จุด หรือ 0.08% และดัชนีแนสแด็กที่ 15,562.34 จุด บวก 63.95 จุด หรือ 0.41%

ตลาดหุ้นได้ปัจจัยบวกจากการที่นักลงทุนมองว่าราคาหุ้นจะปรับตัวขึ้นในช่วงปลายปีนี้ โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยหุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเศรษฐกิจต่างพุ่งขึ้นในการซื้อขายวันนี้

ดาวโจนส์

ทั้งนี้ ดัชนีดาวโจนส์ดีดตัวขึ้น 5.8% ในเดือนตุลาคม ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ทะยานขึ้น 6.9% ทำสถิติปรับตัวขึ้นรายเดือนมากที่สุด นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ส่วนดัชนีแนสแด็ก พุ่งขึ้น 7.3%

ข้อมูลจาก Stock Trader’s Almanac ระบุว่า ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทมักดีดตัวขึ้นในเดือนตุลาคม และปรับตัวขึ้นจนถึงสิ้นปี โดยเดือนตุลาคม ถือเป็นจุดเริ่มต้นของช่วงขาขึ้นตามฤดูกาลของราคาหุ้น ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ดีดตัวขึ้นเฉลี่ย 0.8% ในเดือนตุลาคม ก่อนที่จะพุ่งขึ้น 1.6% ในเดือนพฤศจิกายน และ 1.5% ในเดือนธันวาคม

บริษัทจำนวน 50% ในดัชนีเอสแอนด์พี 500ได้รายงานผลประกอบการในไตรมาส 3 แล้ว โดยมากกว่า 80% ในจำนวนดังกล่าวมีผลประกอบการสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ และนักวิเคราะห์คาดว่าบริษัทจดทะเบียนจะมีกำไรในไตรมาส 3 เพิ่มขึ้นถึง 38.6%

นักลงทุนเพิ่มการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในกลางปีหน้า หลังจากที่สหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นในเดือนกันยายน

FedWatch Tool ของ CME Group ซึ่งวิเคราะห์การซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของสหรัฐ พบว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดมีแนวโน้ม 50% ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนมิถุนายน 2565 เทียบกับตัวเลขคาดการณ์เพียง 15% ก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ นักลงทุนยังคาดว่าเฟดจะประกาศปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในการประชุมวันที่ 2-3 พฤศจิกายนนี้ ก่อนที่จะปรับลดจริงในการประชุมเดือนธันวาคม ซึ่งจะทำให้เฟดยุติมาตรการ QE โดยสิ้นเชิงในกลางปี 2565

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหาร และพลังงาน เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนกันยายน เมื่อเทียบรายเดือน และเมื่อเทียบรายปี พุ่งขึ้น 4.4% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2534  แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของราคาอาหารและพลังงาน

ดาวโจนส์

ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนกันยายน เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนสิงหาคม และเมื่อเทียบรายปี เพิ่มขึ้น 3.6% ในเดือนกันยายน สอดคล้องกับเดือนสิงหาคม

ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จากกระทรวงแรงงานสหรัฐ

นักลงทุนจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันศุกร์นี้  โดยคาดว่า  กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 450,000 ตำแหน่งในเดือนที่แล้ว หลังจากที่เพิ่มขึ้นเพียง 194,000 ตำแหน่งในเดือนกันยายน และ คาดว่าอัตราการว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 4.7% ในเดือนตุลาคม จากระดับ 4.8% ในเดือนกันยายน

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo