Stock

เปิดพอร์ตลงทุน ปตท. เปิดทุกแนวรบ ลุย FUTURE ENERGY

ปตท. กางพอร์ตลงทุนกลุ่มพลังงานอนาคต หรือ Future Energy ตามวิสัยทัศน์ใหม่ “Powering Life with Future Energy and Beyond” ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังงานแห่งอนาคต “รุกทุกแนวรบ”

ทิศทางการขับเคลื่อนองค์กร เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตตามวิสัยทัศน์ใหม่นี้ จะมุ่งสู่ธุรกิจพลังงานอนาคตและการเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไปไกลกว่าพลังงาน สำหรับพลังงานอนาคต จะมุ่งไปที่พลังงานหมุนเวียน และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงเทคโนโลยีการกักเก็บและการบริหารจัดการพลังงาน

Future Energy PTT Cover e1635585072812

สำหรับธุรกิจที่มากกว่าด้านพลังงาน จะมุ่งไปที่ ธุรกิจ Life Science ธุรกิจ Mobility & Lifestyle ธุรกิจ Logistic และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์

ในส่วนของกลยุทธ์การลงทุนในกลุ่มพลังงานอนาคต จะมี บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้าและพลังงานอัจฉริยะของกลุ่ม ปตท. เป็นเรือธง (Flagship) โดยมีเป้าหมาย ขยายการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน และ New Energy ทั้งในและต่างประเทศ

ปตท. ปรับกลยุทธ์การลงทุนมุ่งสู่กลุ่มพลังงานอนาคต

ตามกลยุทธ์การลงทุนที่มุ่งไปสู่กลุ่มพลังงานอนาคต ปตท. ได้มีการปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่เมื่อกลางปีนี้ โดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท สยาม แมเนจเม้นท์ โฮลดิ้ง จำกัด (SMH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ถือหุ้นใน GPSC รวม 44.45% ซึ่งเป็นการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าผ่าน GPSC

ตามเป้าหมายของกลยุทธ์ทางธุรกิจ ได้มีการปรับแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยจะมีการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า และ New Energy ทั้งในประเทศและในระดับภูมิภาค โดยจะเร่งการลงทุนใน กลุ่มพลังงานอนาคต คือ พลังงานหมุนเวียน ระบบการกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) และ EV Value Chain โดยตั้งเป้าหมายสัดส่วนกำไรของ ปตท. ในธุรกิจกลุ่มนี้เป็น 15% ของกำไรทั้งหมด

ในส่วนของธุรกิจพลังงานไฟฟ้า มีเป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามสัดส่วนการลงทุนเพิ่มเป็น 8,000 เมกะวัตต์ ในอีก 10 ปี ข้างหน้า หรือภายในปี 2573 จากที่ปัจจุบัน GPSC มีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 7,102 เมกะวัตต์ และเป็นสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียน 2,628 เมกะวัตต์

พลังงานอนาคต
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ  PTT เปิดเผยว่า กลุ่มปตท. ได้มีการปรับกลยุทธ์ทิศทางธุรกิจในกลุ่มให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เข้าสู่ธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต โดยจะเร่งลงทุนในกลุ่มนี้

สำหรับการลงทุนพลังงาน ตั้งแต่ไตรมาส 2 ในปีนี้ GRP1 ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนทางอ้อมของ ปตท. และ GPSC ได้เข้าลงทุน 90% ใน โรงไฟฟ้า Sheng Yang Energy ที่ไต้หวัน 55.8 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการโซลาร์มากขึ้น

นอกจากนี้ GPSC ยังมีการลงทุน 25% ใน โรงไฟฟ้าพลังงานลม ที่ไต้หวัน 595 เมกะวัตต์ เพื่อขยายองค์ความรู้การพัฒนาโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่ง และซื้อหุ้นเพิ่มทุน 41.6% ใน Avaada ที่อินเดีย 4,560 เมกะวัตต์ ต่อยอดความเชี่ยวชาญการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์

gpsc

GPSC เปิด โรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน G-Cell เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งใช้เทคโนโลยี Semi-Solid ในการผลิตแบตเตอรี่ Lithium-ion แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง

โรงงานแห่งนี้ใช้ นวัตกรรมการผลิตแบตเตอรี่ Semi-Solid ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผลิตของ บริษัท 24M Technologies Incorporation หรือ 24M จากประเทศสหรัฐอเมริกา โดย GPSC ได้รับสิทธิ License ในการดำเนินการผลิตและจัดจำหน่าย โดยจะเริ่มต้นจากการผลิต G-Cell แบบ LFP (Lithium Iron Phosphate) หรือ ลิเธียมไอรอนฟอสเฟต ที่มีจุดเด่นในเรื่องความปลอดภัยในการใช้งานสูง และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า และสามารถใช้งานได้กับแอปพลิเคชันที่หลากหลายทั้ง Stationary and Mobility Application

GPSC G Cell e1635587553295

รวมทั้งยังสามารถรีไซเคิล (Recycle) ได้ง่าย เมื่อแบตเตอรี่หมดอายุการใช้งาน จึงเป็นแบตเตอรี่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการเริ่มต้นที่กำลังการผลิต 30 MWh (เมกะวัตต์ชั่วโมง) ต่อปี ซึ่งสามารถขยายกำลังการผลิตของโรงงานนี้เพิ่มเป็น 100 MWh (เมกะวัตต์ชั่วโมง) ต่อปี และก้าวสู่โรงงานผลิตเชิงพาณิชย์ขนาดเริ่มต้น 1 GWh (กิกะวัตต์ชั่วโมง) ต่อปี โดยอยู่ระหว่างการศึกษาแผนการลงทุน

การสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ ยังช่วยสร้างความพร้อมด้านพลังงานให้กับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือ S-CURVE โดยเฉพาะ ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) การเพิ่มขึ้นของการผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City)

พลังงานอนาคต

G-Cell ได้มีการนำไปพัฒนาต่อยอดเป็น ผลิตภัณฑ์กลุ่ม G-Box ที่เป็นระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งก่อนหน้านี้ GPSC ร่วมกับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ดำเนินโครงการระบบกักเก็บพลังงานผ่านแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System) ซึ่งเป็นโซลูชั่นบริหารจัดการในสถานีบริการน้ำมัน โดยนำร่องติดตั้งที่สถานีบริการน้ำมัน PTT Station สาขาหนองแขมเป็นแห่งแรก

โครงการนี้เป็นการต่อยอด ผลิตภัณฑ์ G-Cell ในการนำไปประยุกต์ใช้งานในรูปแบบของ G-Box for EV Charging Station เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านบริหารจัดการพลังงานร่วมกับสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Station) ในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station โดยระบบจะทำหน้าที่ กักเก็บพลังงานไฟฟ้าในเวลากลางคืน (Off Peak) เพื่อนำไปใช้ในเวลากลางวัน ที่มีการใช้ไฟฟ้าในอัตราที่สูง (Peak) เพื่อลด Peak Demand ของระบบ โดยเฉพาะในเวลาที่มียานยนต์ไฟฟ้าเข้ามาใช้งานเติมไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้

EV Car e1635588340910

ด้านธุรกิจ EV Value Chain ล่าสุด ปตท. ลงนามกับ Foxconn ตั้งบริษัทร่วมทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ในประเทศไทย เน้นการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการในประเทศ ด้วยบริการครบวงจร ทั้งการออกแบบ ผลิต EV ตลอดจนผลิตชิ้นส่วนสำคัญ โดยมีเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางผลิต EV ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตและเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตในระดับสาก และทำให้ธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตครบวงจรมากขึ้น

นอกจากนี้ มีการพัฒนาระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะด้วยดิจิทัล หรือ Smart Energy Platform ระหว่าง ปตท. และพันธมิตร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เซอร์ทิส จำกัด (SERTIS) สำหรับการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ โดยใช้เทคโนโลยีเอไอ และบล็อกเชน (Blockchain) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยและการซื้อขายพลังงาน  ระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยกับผู้ใช้พลังงาน

พลังงานอนาคต

ระบบนี้ยังได้รับการคัดเลือกให้มีสิทธิ์เข้าร่วม โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการพลังงาน (Energy Regulatory Commission Sandbox ERC Sandbox) จัดโดย คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

ซึ่งเป็นโครงการนำร่องเพื่อศึกษาการซื้อขายไฟฟ้า รองรับโครงการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กไม่ผ่านระบบจำหน่าย (Microgrid) เพื่อขยายการใช้งานไปยังพื้นที่อุตสาหกรรม ทำให้เกิดการบริหารจัดการการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมพลังงานยั่งยืน

อรรถพล กล่าวว่า “ปตท. เร่งลงทุนในกลุ่มพลังงานอนาคต เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายในปี 2030 แต่ต้องพิจารณาระหว่างปีว่าธุรกิจไหนไปได้ไกลกว่าและเร็วกว่า ซึ่งกลุ่มนี้ ปตท. มีงบลงทุนในสัดส่วน 15% เท่ากับเป้าหมายของกำไรที่ตั้งไว้”

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo