Stock

ดาวโจนส์ ทะยานเฉียด 300 จุด ‘ยาโมลนูพิราเวียร์’ จุดความหวังเศรษฐกิจฟื้น

ตลาดหุ้นสหรัฐ ซื้อขายช่วงเช้าวันนี้ (1 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น โดยที่ดาวโจนส์ทะยานสูงขึ้น ข้ามเส้น 34,000 จุด ได้อีกครั้ง ขานรับประสิทธิภาพของ “ยาโมลนูพิราเวียร์” ในการรักษาโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวล่าสุดที่ 34,125.97 จุด ทะยานขึ้น 282.05 จุด หรือ 0.83% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ที่ 4,331.42 จุด ปรับขึ้น 23.88 จุด หรือ 0.55% และดัชนีแนสแด็กที่ 14,462.88 จุด บวก 14.30 จุด หรือ 0.10%

หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวขึ้น หลังจากที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีร่วงลงต่ำกว่า 1.5% ในวันนี้ เช่นเดียวกับ หุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเศรษฐกิจ ที่ต่างพุ่งขึ้น ขณะที่นักลงทุนมีความหวังว่ายาโมลนูพิราเวียร์จะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ

ดาวโจนส์

ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทดีดตัวขึ้นในวันนี้ ซึ่งเป็นการซื้อขายวันแรกของเดือนตุลาคม หลังจากดิ่งลงอย่างหนักในเดือนกันยายน โดยดัชนีดาวโจนส์ร่วงลง 4.3% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 รูดลง 4.8% และดัชนีแนสแด็ก ทรุดตัวลง 5.3% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่ต้นปี 2564

ราคาหุ้นบริษัท เมอร์ค แอนด์ โค ซึ่งเป็นบริษัทยารายใหญ่ของสหรัฐ พุ่งขึ้นกว่า 11%  ขานรับข่าวดีจากการที่ทางบริษัทเตรียมยื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (เอฟดีเอ) เพื่อขออนุมัติการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ในกรณีฉุกเฉิน หลังการทดลองทางคลินิกได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ

ทั้งนี้ ยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาเม็ดสำหรับรักษาโรคโควิด-19 ซึ่งเมอร์คระบุว่ามีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์เดลตา แม้ว่าขณะนี้ ยาโมลนูพิราเวียร์ยังไม่ได้รับการรับรองจากเอฟดีเอ แต่หลายประเทศทั่วโลก รวมถึง สหรัฐ ก็ได้เริ่มสั่งยาโมลนูพิราเวียร์จากเมอร์คแล้ว โดยบริษัทได้รับคำสั่งซื้อจากรัฐบาลสหรัฐในการจัดส่งยาจำนวน 1.7 ล้านเม็ด

อย่างไรก็ดี ราคาหุ้นของบริษัทไฟเซอร์ อิงค์ และโมเดอร์นา อิงค์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ดิ่งลงอย่างหนัก 3% และ 10% ตามลำดับ หลังมีการเปิดเผยประสิทธิภาพของยาโมลนูพิราเวียร์ในการรักษาโรคโควิด-19

นายไมเคิล ยี ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพของบริษัทเจฟเฟอรีส์ กล่าวว่า ราคาหุ้นของบริษัททั้งสองที่ร่วงลงเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนจะกลัวโควิดน้อยลง และจะลดความต้องการฉีดวัคซีน ในเมื่อมียาเม็ดที่กินได้ง่ายเพื่อรักษาโควิด

ส่วนนายอาเมช อาดาลจา นักวิชาการอาวุโสจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์กล่าวว่า “ยาเม็ดที่ใช้รับประทาน ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงอย่างมากในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ถือเป็นตัวพลิกเกมเลยทีเดียว เนื่องจากวิธีการรักษาโรคโควิด-19 ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ถือว่าสร้างความยุ่งยากให้แก่แพทย์อย่างมาก ซึ่งการมียากินรักษาแบบง่ายๆจะช่วยได้มาก”

ดัชนีดาวโจนส์ยังได้แรงหนุนจากการที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ลงนามในร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวแล้ว ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐมีงบประมาณใช้จ่ายจนถึงวันที่ 3 ธันวาคมนี้ และหลีกเลี่ยงไม่ให้หน่วยงานเหล่านี้ต้องถูกปิดการดำเนินงาน

ดาวโจนส์

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ พุ่งขึ้น 3.6% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม  2534 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.5%

การพุ่งขึ้นของดัชนี PCE พื้นฐานมีสาเหตุจากภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน และความต้องการใช้เชื้อเพลิงในระดับสูงกว่าปกติ เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนสิงหาคม สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2%

ส่วนดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน พุ่งขึ้น 4.3% ในเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2534 เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไปเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนสิงหาคม

ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จากกระทรวงแรงงานสหรัฐ

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนสิงหาคม สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.7% ขณะเดียวกัน รายได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนดังกล่าว สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้

ส่วนอัตราการออมของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 9.4% สู่ระดับ 1.71 ล้านล้านดอลลาร์ หลังจากพุ่งขึ้น 10.1% ในเดือนกรกฎาคม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo