Stock

เปิดเทคนิคลงทุนหุ้น IPO ลงทุนให้เป๊ะ ลงทุนให้ปัง ต้องทำยังไง?

เปิดเทคนิคลงทุนหุ้น IPO ลงทุนให้เป๊ะ ลงทุนให้ปัง ต้องทำยังไง เมื่อหุ้น IPO เป็นหุ้นใหม่ ข้อมูลจึงมีไม่มากนัก จึงควรวิเคราะห์ด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง

ข้อมูลเกี่ยวกับหุ้น IPO อาจมีไม่มากนัก เนื่องจากเป็นบริษัทที่เพิ่งเข้ามาจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ นักลงทุนจึงควรวิเคราะห์หุ้น IPO ด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง โดยเฉพาะการประเมินมูลค่าหุ้น ต้องไม่ลืมว่าการเติบโตในอนาคตเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการสร้างมูลค่า ดังนั้น การลงทุนหุ้น IPO จึงไม่สามารถดูจากราคาหุ้นเพียงอย่างเดียว

เทคนิคลงทุนหุ้น

ถึงแม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจ และหลาย ๆ ธุรกิจในประเทศไทย จะยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งอาจส่งผลให้บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์บางราย ตัดสินใจชะลอแผนเข้ามาระดมทุน แต่หากมองถึงหุ้นที่เสนอขายต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering : IPO) ที่เข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นไทย พบว่ามีอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2564 มีหุ้น IPO เข้ามาซื้อขายบนกระดานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) รวมกันทั้งสิ้น 20 บริษัท และรออนุมัติไฟล์ลิ่งเพื่อเตรียมตัวเข้าซื้อขายในปีนี้อีกประมาณ 20 บริษัท แสดงให้เห็นว่านักลงทุนกำลังมีหุ้นใหม่ที่จะเข้ามาให้เลือกลงทุนมากขึ้น และเป็นโอกาสในการแสวงหาหุ้นใหม่ ๆ ที่จะช่วยสร้างโอกาสให้ได้รับผลตอบแทนที่ดี

นักลงทุนมักจะมีคำถามเสมอว่า เมื่อซื้อหุ้น IPO ควรขายในวันแรกที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ นอกจากนี้ก็มักจะมีคำถามตามมาว่า ควรจะขายหุ้น IPO เมื่อไหร่ดี เพื่อที่จะตอบคำถามนี้ ก่อนอื่นนักลงทุนต้องรู้หรือตอบได้ว่า มูลค่าที่เหมาะสมของหุ้น IPO นั้นอยู่ที่ราคาเท่าไหร่

เทคนิคลงทุนหุ้น

ซึ่งความจริงแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดในการตัดสินใจลงทุนและซื้อขายหุ้น คือ 

  • การพิจารณาปัจจัยพื้นฐานเป็นสำคัญ
  • การเข้าใจในธุรกิจ
  • การประเมินมูลค่าหุ้นเพื่อหาราคาที่เหมาะสม

โดยนักลงทุนอาจจะพิจารณาศึกษาจากบทวิเคราะห์ ที่นักวิเคราะห์ได้ทำการวิเคราะห์ราคาที่เหมาะสมหรือให้ราคาเป้าหมาย (Target Price) ไว้ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะช่วยนักลงทุนในการตัดสินใจว่า ควรจะซื้อหรือขายเมื่อใด จากนั้นจึงเปรียบเทียบราคาตลาด ณ ปัจจุบันกับราคาเป้าหมายที่ได้จากการประเมิน โดยนักลงทุนจะตัดสินใจซื้อเมื่อราคาตลาดต่ำกว่าราคาเป้าหมาย และจะตัดสินใจขายเมื่อราคาตลาดสูงกว่าราคาเป้าหมาย เช่น ราคาหุ้น IPO อยู่ที่ 10 บาท นักวิเคราะห์ประเมินว่า ราคาที่เหมาะสมหรือราคาเป้าหมาย ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่ 13 บาท

เมื่อหุ้น IPO เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ราคาหุ้นปรับขึ้นเป็น 11-12 บาท ซึ่งยังไม่ถึงราคาที่เหมาะสม ก็จะมีคำถามอีกว่า ควรจะขายทำกำไรเลยหรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ ก็ต้องพิจารณาว่า นักลงทุนมีเป้าหมายการลงทุนแบบใด หากเป็นนักลงทุนระยะสั้นก็อาจขายออกไปเพื่อทำกำไรก่อน แต่หากเป็นนักลงทุนระยะยาวก็สามารถถือต่อไปได้เมื่อประเมินว่า ธุรกิจมีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง มีอนาคตการดำเนินธุรกิจที่ดีในระยะยาว และราคาตลาดยังไม่ถึงราคาเป้าหมาย

เทคนิคลงทุนหุ้น

สำหรับการลงทุนระยะยาวนั้น 

นักลงทุนต้องมีการติดตามข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนพัฒนาการต่าง ๆ ของบริษัทอย่างใกล้ชิด เพื่อพิจารณาถึงผลกระทบที่อาจจะมีต่อผลการดำเนินงานของบริษัทไม่ว่าในทางบวกหรือลบในอนาคต ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินลงทุนว่านักลงทุนควรจะซื้อ ถือ หรือขายหุ้น

ในกรณีที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงกว่าราคา IPO นักลงทุนก็ต้องพิจารณาถึงสาเหตุหลัก หากพบว่า ราคาหุ้นปรับลดลงเพราะความผันผวนของตลาดโดยรวม ไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐาน นักลงทุนก็ไม่ควรจะขายหุ้นหรือตัดขาดทุน อาจจะซื้อเพื่อลงทุนเพิ่มได้ด้วยถ้าราคาลดต่ำกว่ามูลค่าที่เหมาะสมมาก ๆ แต่หากพบว่า ราคาหุ้นที่ปรับลดลงนั้น เป็นเพราะปัจจัยพื้นฐานของบริษัทเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ก็อาจต้องขายออกเพื่อตัดขาดทุน

ลงทุนหุ้น IPO อย่ามองแค่ราคาขึ้นลง

ดังนั้น การลงทุนหุ้น IPO อย่ามองแค่ราคาขึ้นลงของหุ้นในวันแรกที่เข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ นักลงทุนควรพิจารณาจากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน โดยหากหุ้น IPO ที่ถืออยู่นั้น มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง มีผลการดำเนินงานเติบโตดี และจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ หากใช้กลยุทธ์ลงทุนในระยะยาว อาจจะได้รับผลตอบแทนที่น่าประทับใจ ซึ่งอาจได้กำไรที่ดีกว่าการขายตั้งแต่วันแรกของการ IPO

ด้วยเหตุนี้ ถ้านักลงทุนมั่นใจในหุ้น IPO ที่ถืออยู่แล้ว และมีนโยบายการลงทุนในระยะยาว หรือเพื่อรอรับเงินปันผล นักลงทุนจะต้องมีความเข้าใจปัจจัยพื้นฐานและลักษณะการดำเนินธุรกิจของบริษัทเป็นอย่างดี จึงจะทำให้สามารถวิเคราะห์และประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นได้อย่างถูกต้อง เพื่อช่วยในการตัดสินใจได้อย่างมีสติ ไม่ตามกระแสหรือความผันผวนของตลาดโดยรวม

ที่มา : สมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บล.ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน)

www.setinvestnow.com

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo