Stock

คาดสัปดาห์หน้าหุ้นแกว่งช่วงแคบ เงินบาทจ่อทะลุ 33 บาท/ดอลลาร์

แนวโน้มหุ้น ในสัปดาห์หน้า แกว่ง 1,530-1,555 จุด สถานการณ์โควิดทั้งใน-ต่างประเทศยังกดดันบรรยากาศการลงทุน ขณะค่าเงินบาทแนวโน้มอ่อน 32.70-33.20 บาทต่อดอลลาร์ 

บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองตลาดหุ้นในสัปดาห์ถัดไป (26-30 กรกฎาคม) ว่า แนวโน้มหุ้นมีแนวรับที่ 1,530 และ 1,520 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,555 และ 1,565 จุด ตามลำดับ

แนวโน้มหุ้น 1

ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟด (27-28 กรกฎาคม) สถานการณ์โควิด 19 ทั้งในและต่างประเทศ ประเด็นเกี่ยวกับวัคซีนต้านโควิด 19 และมาตรการในการควบคุมสถานการณ์โควิด 19 ในประเทศ รวมถึงการทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/2564 ของบริษัทจดทะเบียน(บจ.) 

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Index เดือนมิ.ย. ตลอดจนตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2564  ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2564 และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกรกฎาคมของยูโรโซน ตลอดจนกำไรบริษัทภาคอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายนของจีน

แนวโน้มหุ้น

หุ้นไทยร่วงลงจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,545.10 จุด ลดลง 1.86% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 72,512.89 ล้านบาท ลดลง 6.30% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.56% มาปิดที่ 507.65 จุด  

หุ้นไทยร่วงลงแรงช่วงต้นสัปดาห์ หลังจากทางการยกระดับการควบคุมสถานการณ์โควิดในประเทศ ส่งผลให้มีการเทขายหุ้นทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มธนาคาร การเงิน และพลังงานซึ่งมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวลงหลังที่ประชุมโอเปกพลัสมีมติเพิ่มกำลังการผลิต

หุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนระหว่างสัปดาห์ จากแรงซื้อคืนหุ้นกลุ่มธนาคาร หลังผลประกอบการกลุ่มธนาคารไตรมาสล่าสุดออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด อย่างไรก็ดี หุ้นไทยปรับตัวลงอีกครั้งช่วงปลายสัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์โควิด

สำหรับค่าเงินบาท ในสัปดาห์ถัดไป (26-30 กรกฎาคม) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.70-33.20 บาทต่อดอลลาร์

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมเฟด (27-28 กรกฎาคม) สถานการณ์โควิด 19 ในประเทศ และรายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนมิ.ย. ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

ค่าเงินบาท

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ค. อัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Index ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือนมิถุนายน ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2564 (ครั้งที่ 1) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูลกำไรภาคอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายนของจีน ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2564 และอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนด้วยเช่นกัน  

เงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 15 เดือนครั้งใหม่ที่ 32.94 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทเผชิญแรงขายอย่างต่อเนื่อง หลังข้อมูลยอดผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในประเทศยังคงเพิ่มสูงขึ้นและอยู่ในระดับที่สูงกว่าหมื่นรายต่อวันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสัญญาณที่ตอกย้ำความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงจากวิกฤตโควิด 19 ที่กำลังมีผลกระทบต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้สกุลเงินอื่นๆ ในเอเชียก็กลับมามีทิศทางอ่อนค่าลงในช่วงปลายสัปดาห์ด้วยเช่นกัน

ในวันศุกร์ (23 กรกฎาคม) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 32.94 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับ 32.75 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (16 กรกฎาคม)

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo