Stock

เทขายทำกำไร ฉุด ‘ดาวโจนส์’ ร่วงเกือบ 200 จุด

ตลาดหุ้นสหรัฐ ซื้อขายช่วงเช้าวันนี้ (28 มิ.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น โดยที่ “ดาวโจนส์” เจอกับแรงเทขายทำกำไร ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง เกือบ 200 จุด ขณะที่ เอสแอนด์พี 500 และแนสแด็ก ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น 

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวล่าสุดที่ 34,252.81 จุด ร่วงลง 181.03 จุด หรือ 0.53% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ที่ 4,280.79 จุด ขยับขึ้นมา 0.09 จุด หรือ 0.00% และดัชนีแนสแด็กที่ 14,461.74 จุด ทะยานขึ้น 101.36 จุด หรือ 0.71%

ดัชนีเอสแอนด์พี 500 พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อวันศุกร์ (25 มิ.ย.) และทำสถิติปรับขึ้นมากที่สุดรายสัปดาห์ นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยได้แรงหนุนจากการที่ ทำเนียบขาว และสภาคองเกรส สามารถบรรลุข้อตกลงในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานของสหรัฐ

Stocksbitcoin ๒๑๐๖๒๘

นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยบวกจากรายงานที่ว่า ธนาคารขนาดใหญ่ทั้ง 23 แห่งของสหรัฐสามารถผ่านการทดสอบภาวะวิกฤติ (Stress Test) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งผลให้ธนาคารเหล่านี้ สามารถกลับมาจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในระดับปกติ และกลับมาซื้อคืนหุ้นได้อีกครั้งตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายนนี้

ขณะเดียวกัน ตลาดไม่ได้รับผลกระทบจากการที่สหรัฐเปิดเผยดัชนีเงินเฟ้อสำคัญพุ่งสูงสุดในรอบเกือบ 30 ปี เนื่องจากนักลงทุนมองว่าการดีดตัวขึ้นของเงินเฟ้อในระยะนี้เป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว ขณะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ พุ่งขึ้น 3.4% ในเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2535 หรือสูงสุดในรอบเกือบ 30 ปี

นักวิเคราะห์ระบุว่า ตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นดังกล่าว ถูกบิดเบือนจากการเปรียบเทียบกับตัวเลขฐานที่ต่ำผิดปกติในปีที่แล้ว ซึ่งขณะนั้นราคาสินค้าได้ทรุดตัวลง โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และจากการปิดเศรษฐกิจ หลังประกาศมาตรการล็อกดาวน์

นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวก่อนหน้านี้ว่า การปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อในระยะนี้เป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว และจะผ่อนคลายลงในปีหน้า ขณะที่เศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ โดยไม่มีปัญหาการขาดแคลนแรงงานและวัตถุดิบในการผลิต

ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จากกระทรวงแรงงาน

นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันศุกร์นี้ (2 ก.ค.) ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า กระทรวงแรงงานสหรัฐ จะรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 683,000 ตำแหน่งในเดือนมิถุนายน

กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานก่อนหน้านี้ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 559,000 ตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 671,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 5.8% ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 5.9% หลังจากแตะระดับ 6.1% ในเดือนเมษายน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo