Stock

นักลงทุนเมิน ‘เงินเฟ้อ’ พุ่ง ดัน ‘ดาวโจนส์’ ทะยานกว่า 100 จุด

ตลาดหุ้นสหรัฐ ซื้อขายช่วงเช้าวันนี้ (10 มิ.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น ปรับตัวสูงขึ้น โดยที่ ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ทะยานขึ้นไปทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ก่อนจะอ่อนตัวลงมาเล็กน้อย เนื่องจากนักลงทุนไม่ให้ความสนใจกับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น และหันไปยึดติดกับสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แม้จะมีความกังวลว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจเพิ่มความเข้มงวดในนโยบายการเงินก็ตาม

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวล่าสุดที่ 34,567.35 จุด ปรับขึ้นมา 120.21 จุด หรือ 0.35% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ที่ 4,237.70 จุด ขยับขึ้น 18.15 จุด หรือ 0.43% และดัชนีแนสแด็ก ที่ 13,982.55 จุด บวก 70.80 จุด หรือ 0.51%

Stocksbitcoin ๒๑๐๖๐๔

วันนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยพบว่า ดัชนี CPI ดีดตัวขึ้น 0.6% ในเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.5% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนเมษายน

เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI พุ่งขึ้น 5.0% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.7% หลังจากเพิ่มขึ้น 4.2% ในเดือนก่อนหน้านั้น

หากไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดัชนี CPI พื้นฐานพุ่งขึ้น 0.7% ในเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.5% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.9% ในเดือนเมษายน และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI พื้นฐานพุ่งขึ้น 3.8% ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 29 ปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 3.5% หลังจากเพิ่มขึ้น 3.0% ในเดือนเมษายน

นักวิเคราะห์ระบุว่า ตัวเลขเงินเฟ้อถูกบิดเบือน จากการเปรียบเทียบกับตัวเลขฐานที่ต่ำผิดปกติในปีที่แล้ว ซึ่งขณะนั้นราคาสินค้าได้ทรุดตัวล งโดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และจากการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด

นอกจากนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นในเดือนที่แล้ว ยังมีสาเหตุจากราคารถยนต์มือสอง และรถบรรทุกที่ทะยานขึ้นมากกว่า 7% ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการเพิ่มขึ้นราว 1 ใน 3 ของการดีดตัวขึ้นของเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคม โดยการเพิ่มขึ้นของราคารถยนต์มือสองมักเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว และเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ขณะเดียวกัน ดัชนีดาวโจนส์ยังได้แรงหนุนจากการเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานที่ลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 6

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงสู่ระดับ 376,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบเกือบ 15 เดือน หรือนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐเมื่อเดือนมีนาคม 2563

ขณะนี้ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานได้ปรับตัวลงติดต่อกัน 6 สัปดาห์ โดยต่ำกว่าสัปดาห์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 385,000 ราย แต่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 370,000 ราย

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงในสัปดาห์ที่แล้ว แต่ก็ยังคงสูงกว่าระดับ 230,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ

ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องลดลง 258,000 ราย ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สู่ระดับ 3.5 ล้านราย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo